ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475: “ข้อมูลใหม่” เกี่ยวกับคณะราษฎร จากบันทึกของปรีดี พนมยงค์ (ตอนที่ 1)

17
มิถุนายน
2565
ภาพถ่ายนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ Place du Trocadéro ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926[1]
ภาพถ่ายนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ Place du Trocadéro ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1926[1]

 

ในวาระ 90 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ยังมีเรื่องราวของคณะราษฎรในแง่มุมใหม่จากหลักฐานประวัติศาสตร์ ทั้งการตื่นขึ้นทางความคิดของราษฎรสามัญ[2] การผลิตซ้ำแนวคิดของคณะราษฎรในเยาวชนคนหนุ่มสาว หรือ เยาวรุ่นอย่างต่อเนื่อง

ในบทความชิ้นนี้ได้นำเสนอข้อมูลใหม่บางประการเรื่อง “การก่อตั้งคณะราษฎร” จากบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ต่อหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน ของประยูร ภมรมนตรี ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 เพื่อขยายพรมแดนความรู้จากบันทึกของปรีดี พนมยงค์ ว่าคณะราษฎรมีพื้นฐานการก่อตั้งมาจากสามัคยานุเคราะห์สมาคม โดยมีแนวคิดของ 4 คณะราษฎร คือ ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี ดร. ตั้ว ลพานุกรม และ แนบ พหลโยธิน ที่ก้าวเข้ามาร่วมเป็นกองหน้า (Vanguard) อย่างไร และมีเรื่องความเป็นมาของหลัก 6 ประการ ที่ไม่เคยเล่าไว้ที่ใดมาก่อน ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ในทรรศนะของปรีดี พนมยงค์ ที่นำมาเปิดเผยเนื่องในวาระสำคัญ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม เป็นครั้งแรก

 

สัจจะทางประวัติศาสตร์ในคำฟ้องคดีและคำท้วงของปรีดี พนมยงค์

ภายหลังการลี้ภัยจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ของปรีดี พนมยงค์ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนหลายประการต่อปรีดี ครอบครัว และคณะราษฎรอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะในบทความหนังสือพิมพ์ บันทึกความทรงจำ ตำราประกอบการเรียน สารคดีการเมืองนับตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2525 ส่งผลให้ปรีดีมีภาพลักษณ์ทางการเมืองค่อนไปทางลบในสังคมไทย

เส้นทางการต่อสู้ของปรีดี และครอบครัวของเขา ต่อการนำเสนอข้อมูลส่วนตัวที่บิดผัน ข้อมูลที่บิดเบือนประวัติศาสตร์สมัยคณะราษฎร และข้อความหมิ่นประมาทเหล่านี้ ในยามที่ปรีดีต้องเนรเทศในจีน-ฝรั่งเศส คือ การฟ้องร้องคดีเพื่อให้เกิดความชอบธรรมทั้งตนเอง และยืนยันข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง เช่น คดีที่ฟ้องชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ กับพวก และคดีที่ฟ้องบริษัท สยามรัฐ จำกัด และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก ในข้อกล่าวหาว่าพัวพันกรณีสวรรคต คดีที่ฟ้องรอง ศยามานนท์ และพวก ในเรี่องบิดเบือนประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือคดีที่ฟ้องเกี่ยวกับหนังสือของประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น

เมื่อได้อ่านบรรยายเหตุแห่งการฟ้องและคำประท้วงของปรีดี ในคดีต่างๆ กลับพบว่า ได้ทั้งอรรถรสด้วยสำนวนสนุก ปนอารมณ์ขันในบางครั้ง และที่สำคัญคือ ระบุข้อเท็จจริงหลายประการที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยหลัง พ.ศ. 2475 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแง่บันทึกความคิดและเหตุการณ์ชั้นดีที่เปิดมุมมองอีกด้าน

ขณะที่ปรีดีเองได้เสนอให้จัดพิมพ์หนังสือคดีฟ้องทั้งหมดนี้ ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ เพื่อป้องกันการบิดเบือนซ้ำและยืนยันความจริงหรือสัจจะทางประวัติศาสตร์ กับปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่า

ปรีดีกล่าวไว้ว่า “พ่อไม่ต้องการอนุสาวรีย์เป็นวัตถุใดๆ แต่ปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นอนุสาวรีย์ของพ่อ” ในสำเนาพิมพ์ดีดจากหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปรีดีเขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุข ภรรยา และ ปาล บุตรชายคนโต ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2522[3]  ซึ่งขอถอดข้อความอันซีดจางของหมึกพิมพ์ดีดจากบ้านอองโตนีในปารีสมาให้ผู้อ่านได้ศึกษาความคิดของปรีดี พนมยงค์ ไว้ดังนี้

 

29 ส.ค. 2522

ขอให้แม่กับปาลรับทราบและพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้

1.เรื่องทุนในการพิมพ์หนังสือต่างๆ

1.1 ขอบใจแม่ที่เตือนให้คิดถึงการพิมพ์หนังสือคดีต่างๆ  ว่าอาจขาดทุนนั้นก็ย่อมเป็นไปได้ ในทางคิดถึงตัวเอง แต่ที่พ่อประสงค์พิมพ์คดีชาลีฯ และคดีรองฯ และคดีต่อไปเกี่ยวกับประท้วงกระทรวงศึกษาฯ นั้น ก็ได้คิดถึงผลที่มีค่ามากกว่าตัวเองมากมายหลายเท่าดังต่อไปนี้

(1) ฝ่ายปรปักษ์มิได้นิ่งอยู่เพียงมีประกาศของจำเลยทางหนังสือพิมพ์เท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเราชนะคดีก่อนๆ นี้แล้ว อยู่ต่อๆ มาฝ่ายปรปักษ์ก็ฟื้นเรื่องอีก

พ่อก็ชราแล้ว ไม่มีกำลังจะตามไปคอยแก้คดีไม่มีสิ้นสุดนั้น ฉะนั้น จึงจำต้องพิมพ์หนังสือคดีต่างๆ  ขึ้นเพื่อเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อมอบหนังสือนั้นไว้ที่หอสมุดแห่งชาติและหอสมุดมหาวิทยาลัยกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อชนรุ่นหลังจะได้อาศัยค้นคว้าเพื่อสัจจะทางประวัติศาสตร์ประมาณ 500 เล่ม และจำหน่าย 500 เล่ม รวมเป็น 1,000 เล่ม

(2) ชนรุ่นหลังที่มีใจเป็นธรรมก็คงจะอาศัยหลักฐานนั้นช่วยพ่อทำการแย้งฝ่ายปรปักษ์ได้แทนที่จะช่วยเขียนโดยเดาๆ เอาที่มีน้ำหนักน้อยมาก

(3) พ่อไม่ต้องการอนุสาวรีย์เป็นวัตถุใดๆ แต่ปรารถนาให้หนังสือดังกล่าวเป็นอนุสาวรีย์ของพ่อ

1.2 พ่อเห็นใจแม่ที่เงินบาททางกรุงเทพฯ ร่อยหรอไปมากแล้ว ฉะนั้น พ่อจึงจะเอาเงินที่สำรองไว้เป็นเงินประมาณ 10,000 เหรียญ แลกได้ประมาณ 2 แสนบาทเศษเพื่อใช้จ่ายในการพิมพ์หนังสือคดีชาลี, คดีรองฯ, คดีเกี่ยวกับประท้วง, หวังว่าจะพอเสียสละสำหรับการนั้นซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีค่าของพ่อโดยไม่กระทบค่าครองชีพทางนี้เลย…

 

สำเนาพิมพ์ดีดของปรีดี พนมยงค์ ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข และปาล พนมยงค์ ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2522 ที่มา : หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำเนาพิมพ์ดีดของปรีดี พนมยงค์ ถึงท่านผู้หญิงพูนศุข และปาล พนมยงค์
ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2522
ที่มา : หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จนกระทั่งได้มีการตีพิมพ์คดีฟ้องของปรีดีบางเรื่องออกมาเผยแพร่ ทั้งในคดีของชาลี และคดีของรอง แต่ยังไม่มีการตีพิมพ์บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจะนำเสนอในบทความชิ้นนี้

 

ความคิดทางการเมืองของปรีดี ก่อนอภิวัฒน์สยาม 2475

ชนวนฉุกคิดเรื่องความอยุติธรรมทางสังคม และปัญหาการเมืองไทยของปรีดี พนมยงค์ เริ่มต้นเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 2450 หรือช่วง ร.ศ. 130 เมื่อมีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดี ที่พระนครศรีอยุธยาว่านายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางส่วนได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย[4] แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจข่าวนี้มากจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ. 130 ด้วยความเห็นใจ[5] และอุดมคติเพื่อความเป็นธรรมต่อราษฎรสามัญของปรีดี ยังเกิดจากการได้รู้จักความทุกข์ยากของชาวนาตั้งแต่วัยเยาว์ในตอนไปอยู่นากับบิดา 

ปรีดีเล่าถึงชีวิตชาวนาไว้ว่า

 

“ตอนนั้นทำให้ผมรู้จักชาวนาดี เข้าใจว่าความทุกข์ยากของชาวนานี่อย่างไร เกิดจากอะไร ผมยังรุ่นเด็กหนุ่มมาเห็นสภาพอย่างนั้น คลุกคลีกับชาวนา ไอ้เรานี่อยู่ในเมืองอยากกินขนมอยากอะไรก็มีขาย…ก็คิดตามประสาเด็กว่า เอ…จะทำอย่างไรดีที่จะช่วยได้ ก็ไปเรียน…เป็นรัฐศาสตร์จะได้เป็นนายอำเภอช่วยชาวนา คิดอย่างนั้น (หัวเราะ) ทีนี้…ลูกพี่ลูกน้องของบิดาผมก็ให้ความเห็นว่าเรียนกฎหมายดีกว่า เราเรียนกฎหมายก็ทำงานไปด้วยได้…”

 

ปรีดีสอบได้เนติบัณฑิตตอนอายุ 19 ปี  หนึ่งปีถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2463 ก็ได้ทุนของกระทรวงยุติธรรมไปเรียนนิติศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วย 2 ปี นอกจากวิชากฎหมาย จึงทำให้ปรีดีสนใจเรื่องเศรษฐกิจทั้งในแง่ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาที่ศึกษายังประเทศฝรั่งเศส ระหว่าง พ.ศ. 2466-2467 ปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์และในประเทศอื่นๆ ที่ขึ้นต่อสถานทูตสยาม ณ กรุงปารีส จัดตั้งสมาคมชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์”

 

ภาพถ่ายของปรีดี พนมยงค์ ขณะที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2460-2468 [6]
ภาพถ่ายของปรีดี พนมยงค์ ขณะที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2460-2468 [6]

 

ในปีแรก ปรีดีเป็นเลขาธิการของสมาคมฯ  และ พ.ศ. 2468-2469 จึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นสภานายกของสมาคมฯ ช่วงนี้เองที่ปรีดีเริ่มมีทรรศนะและความต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ และมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักเรียนไทยในกรุงปารีสโดยเฉพาะเพื่อนนักศึกษาที่เป็นสมาชิกในสามัคยานุเคราะห์สมาคม[7] จนนำมาสู่การก่อตั้งคณะราษฎรขึ้น

การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร มีขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469[8] ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ อาคารหมายเลข 9 ถนน Rue de Sommerard ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งแรกนี้มี 7 คน ประกอบด้วย 1. ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี 2. ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ 3. ร.ท. ทัศนัย มิตรภักดี 4. ดร. ตั้ว ลพานุกรม 5. หลวงสิริราชไมตรี (นามเดิม จรูญ สิงหเสนี) 6. แนบ พหลโยธิน และ 7. ปรีดี พนมยงค์[9]

ส่วนสถานที่และวิธีพบประสานมิตรภาพ พูดคุยกันเรื่องทั่วไปของผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรมีตั้งแต่พบในหอพัก ภัตตาคาร[10] ระหว่างเดินบนถนนที่ปารีส และร้านกาแฟ

ปรีดีเล่าอย่างติดตลกว่า

 

เราไม่ได้ประชุมกันที่ร้านกาแฟหรอกคุณ ประชุมกันยังไงล่ะที่ร้านกาแฟ นอกจากไปนั่งคุยกันว่าไปไหนมา ถ้าจะเอาเรื่องเอาราวกันละก็…ต้องที่อื่น (หัวเราะ)

[ร้านกาแฟ] เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า เซเรคราแปง ครั้งนั้นน่ะมันเรียกว่า ซูพรี หัวมุมไอเดน รูชิคกูล คือเราใช้วิธีแบ่งแยกออกเป็นสายๆ ไป โดยปกติก็ต้องพบกันสองคนสามคนอย่างนี้้  นักเรียนนอกในเวลานั้น ที่อังกฤษประมาณ 200 ฝรั่งเศสรวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ด้วย ก็ราวๆ ใกล้เคียง คนที่มาร่วมก่อการอภิวัฒน์สยาม ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนนอก ก็ตั้งได้ 7 คน เท่านั้น แต่ทว่าพื้นฐานยังมีอยู่คือ พวกที่เห็นแก่ความเป็นธรรม เห็นแก่ความเจริญ...

 

และหนังสือที่ปรีดีอ่านในช่วงนั้นนอกจากหนังสือเรียนแล้ว แน่นอนว่า ได้อ่านวิธีการจัดตั้งขบวนการปฏิวัติ และประวัติศาสตร์ของนักปฏิวัติ[11] ประกอบกับลงมือปฏิบัติเพื่อสรรหาสมาชิกคณะราษฎร 

 

ก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475 ในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์

จากประวัติศาสตร์บอกเล่าข้างต้นของปรีดี สอดคล้องหลายประการกับบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี ต่อคดีฟ้องเรื่องการบิดเบือนประวัติศาสตร์คณะราษฎรในหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน ของ ประยูร ภมรมนตรี ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 ดังนี้

 

บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของประยูร ภมรมนตรี ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์
เรื่อง คดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของประยูร ภมรมนตรี
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

สามัคยานุเคราะห์สมาคม : รากฐานของคณะราษฎร

ปรีดีระบุความสำคัญของสามัคยานุเคราะห์สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งคณะราษฎรไว้เป็นลายลักษณ์ครั้งแรกว่า

 

“การก่อตั้งคณะราษฎร  ณ กรุงปารีส นั้นเป็นการดำเนินต่อจากพื้นฐานที่สามัคยานุเคราะห์สมาคม”[12]

 

และเล่าต่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2465  เรือตรี สินธุ์ กมลนาวิน นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์ก ได้ไปทัศนาจรที่กรุงปารีส และได้พบปะกับ ทวี บุณยเกตุ และตนเอง ทั้งสามคนจึงปรึกษากันว่าควรจัดตั้งสมาคมนักเรียนไทยในประเทศต่างๆ แห่งภาคพื้นยุโรปขึ้น โดยปรีดีเป็นผู้นำความไปปรารภกับเลขานุการสถานทูตสยามเพื่อทาบทาม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามขณะนั้นว่าจะทรงเห็นด้วยหรือไม่

ท้ายที่สุด  พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ฯ เห็นสมควรจำกัดเป็นเพียงสมาคมของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ กับนักเรียนใหม่ในอังกฤษจำนวนหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466 ก็ร่างก่อตั้งสามัคยานุเคราะห์สมาคม ขึ้น โดยใช้อักษรย่อภาษาไทยว่า “ส.ย.า.ม.” และมีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Association Siamoise d'intellectualite et d' Assistance Mutuelle จึงใช้อักษรย่อว่า “S.I.A.M.”

ต่อมา ปรีดีได้รับตำแหน่งเป็นสภานายกของสามัคยานุเคราะห์สมาคม ชุดที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2468 โดยมี ชม จารุรัตน์ เป็นเลขาธิการ และมี ควง อภัยวงศ์ เป็นเหรัญญิก และตั้ว ลพานุกรม เป็นกรรมการ สืบเนื่องจากวาระก่อนที่สมาชิกสมาคมฯ สนใจการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกันมากจึงทำให้ในวาระที่ปรีดี เป็นสภานายกฯ ครั้งนี้มีการจัดปาฐกถาการเมืองเพิ่มขึ้น และยังได้เรียกร้องสิทธิเรื่องการจ่ายเงินทุนให้นักศึกษาอย่างไม่เป็นธรรมของอัครราชทูตสยาม

กระทั่งเรื่องราวบานปลายจนปรีดี เกือบต้องถูกส่งกลับเมืองไทยด้วยเหตุว่า สามัคยานุเคราะห์สมาคม คล้ายเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดูแลนักเรียนไทยมองว่าเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์การก่อตั้งเป็นสมาคมนักศึกษา ส่วนในมุมมองของปรีดี และเพื่อนสมาชิกฯ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการต่อสู้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้นำไปสู่อุดมคติการก่อตั้งคณะราษฎร[13]

 

เหตุชักชวน 4 สมาชิกคณะราษฎร

 

ภาพบางส่วนของผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีส ราว พ.ศ. 2468-2469[14]
ภาพบางส่วนของผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีส ราว พ.ศ. 2468-2469[14]

 

เหตุชักชวน ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ

ปรีดีเล่าถึงการพบกับ ร.ท. แปลก ครั้งแรกๆ ว่า

 

“เดิมท่านอยู่ในครอบครัวฝรั่งเศสบริเวณ “เอตาล” เช้าวันหนึ่ง ร.ท. แปลก ไปพบข้าพเจ้าในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นสภานายก “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่าเจ้าของบ้านฝรั่งเศสนั้น ได้เอาเปรียบมากและบริการไม่ดี ร.ท. แปลก จึงขอให้ข้าพเจ้าหาห้องเช่าใหม่ อยู่ใกล้กับข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าจึงบอก ร.ท. แปลก ว่า มีห้องว่างติดกับห้องที่ข้าพเจ้าอยู่ในอาคารหมายเลข 10 ถนนเดส์การ์มส์ (Rue des Carmes) ร.ท. แปลก จึงเช่าห้องนั้นและวานข้าพเจ้าหาครูสอนพิเศษคณิตศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อเตรียมเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่”

 

เมื่อห้องของทั้งคู่อยู่ติดกัน ปรีดี และ ร.ท. แปลก จึงได้พบปะกันแทบทุกวัน  และบางครั้งก็ได้ทำอาหารไทยที่ครัวเล็กติดกับห้องเช่านั้นรับประทานด้วย และปรารภกันบ้างถึงความคิดที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปรีดียังชี้ว่า  ร.ท. แปลกมีจิตสำนึกที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ก่อนที่จะไปทัศนาจรยังประเทศเยอรมนีกับ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และก่อนที่จะถูกพนักงานตรวจคนเข้าเมืองของฝรั่งเศสใช้วาจาดูหมิ่นเมืองไทยว่าเป็นเมืองเหาเมืองหมัดเสียอีก

 

เหตุชักชวน ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี

ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี[15] นั้น เป็นพระญาติสนิทของ ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ช่วยทูตทหารบกสมัยนั้น และ ม.จ.ทองฑีฆายุ ผู้ดูแลการเล่าเรียนที่ปารีสของ ร.ต. ทัศนัย ได้ฝากให้ปรีดีที่อยู่ในฐานะสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม ให้ช่วยหาห้องเช่าเยื้องกับที่พักของปรีดี และให้ช่วยหาครูภาษาฝรั่งเศสให้แก่ ร.ต. ทัศนัย ทำให้ทั้งสองมีความสนิทสนมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการบ้านการเมืองกัน และ ร.ต. ทัศนัย ยังสนิทกับ ร.ท. แปลก และ ร.ท. ประยูร อีกด้วย

ปรีดีกล่าวถึงเหตุที่ทำให้ ร.ต. ทัศนัย เข้าร่วมก่อตั้งคณะราษฎรว่า

 

“ข้าพเจ้าขอให้เกียรติ ร.ต.ทัศนัย ว่าเมื่อเราต่างปรารภต่อกันแล้ว จึงตกลงกันคิดเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ โดยข้าพเจ้ามิได้ชักจูง”

 

เหตุชักชวน ดร. ตั้ว ลพานุกรม

ปรีดีเล่าว่า การพบปะ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ที่ศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์นั้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ เพราะ ดร. ตั้วเป็นนักเรียนในความดูแลของสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส ซึ่งจัดให้นักเรียนไทยจากสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาพักผ่อนในกรุงปารีส ได้ปีละ 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ และเมื่อได้ก่อตั้งสามัคยานุเคราะห์สมาคมขึ้นแล้ว ทำให้นักเรียนจากสวิตเซอร์แลนด์ต้องเข้ามาร่วมประชุมประจำปีในช่วงฤดูร้อนเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

ปรีดีชี้ให้เห็นการติดต่อกับ ดร. ตั้ว ว่าสะดวกมากขึ้นเมื่อมีการก่อตั้งสามัคยานุเคราะห์สมาคม และยังเป็นส่วนสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางความคิดเพื่อก่อตั้งคณะราษฎร

 

“อันที่จริง ดร. ตั้ว ได้พบปะสนทนากันเพราะเป็นกรรมการสามัคยานุเคราะห์สมาคม ชุดที่ 3 ร่วมกับข้าพเจ้า”

 

เหตุชักชวนแนบ พหลโยธิน

ปรีดีรู้จักกับ แนบ พหลโยธิน ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2465 ขณะที่แนบอยู่ชานกรุงลอนดอน 3 ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2468 เแนบสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้วท่านพี่เขยของแนบ คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ[16] อธิบดีศาลฎีกาช่วงเวลานั้น ได้สนับสนุนให้แนบเดินทางมาฝรั่งเศสเพื่อปรึกษากับปรีดี เรื่องการศึกษาต่อปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยปารีส

เมื่อแนบย้ายจากอังกฤษมาอยู่ในปารีส ปรีดีจึงจัดให้แนบอาศัยอยู่เขตเดียวกับตน นั่นทำให้แนบสนิทสนมกับปรีดีเป็นทั้งเพื่อน ทั้งในบทบาทสภานายกฯ ที่แนะนำเรื่องการศึกษาต่อปริญญาเอก

เช่นเคย ปรีดีกล่าวว่า แนบตื่นรู้เรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะที่ร่วมกันคิด ไม่ได้เกิดจากการชักจูงแต่อย่างใด

 

“ข้าพเจ้าขอให้เกียรตินายแนบว่า เราต่างปรารภกันแล้วตกลงกันที่จะเปลี่ยนการปกครองฯ”[17]

 

จะเห็นได้ว่าการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ยังมีแง่มุมทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ และมีคุณค่าให้ศึกษาค้นคว้าอย่างไม่รู้จบ ตราบใดที่การอภิวัฒน์ไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยังไม่จบสิ้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

หนังสือพิมพ์ :

  • ไทสัปดาห์, กันยายน พ.ศ. 2499

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • เลขา อภัยวงศ์,  อนุสรณ์เนื่องในพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ท.จ.ท.ม. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์, 2526)
  • ธีรัชย์ พูลท้วม, ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475, ดร. เจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายธีรัชย์ พูลท้วม เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร 11 มีนาคม 2539, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2539)

หนังสือภาษาอังกฤษ :

  • Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern Thailand, (NewYork: State University of New York,  2021)

หนังสือภาษาไทย :

  • กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2565: บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565)
  • ดุษฎี พนมยงค์, แม่อยากเล่า พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส, 2555)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)
  • เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, บรรณาธิการแปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, ศศิธร รัชนี ณ อยุธยา,  (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560)
  • ประยูร ภมรมนตรี, ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2518) 
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพฯ มูลนิธิเด็ก, 2542)
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553)
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)
  • ’รงค์ วงษ์สวรรค์, วานปีศาจตอบ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549)
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)
  • เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)
  • อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ บรรณาธิการ, 115 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ วันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2557, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557)

วิทยานิพนธ์ :

  • ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528)
  • ศราวุฒิ วิสาพรม, “ประวัติศาสตร์สามัญชนในสังคมไทยสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ พ.ศ. 2475-2490,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (10 พฤษภาคม 2563). อนุสาวรีย์ที่มีค่า ของ ปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/pridi-monument/
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (24 มิถุนายน 2560). การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน. สืบค้นจาก https://www.the101.world/the-myths-of-2475/
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (24 มิถุนายน 2563). มองความเคลื่อนไหว ‘คณะราษฎร’ ผ่านอาหารและร้านอาหาร. สืบค้นจาก https://www.the101.world/khana-ratsadon-movement-foods-and-restaurants/  

 


[1] ภาพถ่ายที่มีสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎร 4 ท่าน ใน ไทสัปดาห์  ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 ประจำวันจันทร์ที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2499 จากซ้ายคือ ชม จารุรัตน์, นายแดง คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก, ควง อภัยวงศ์, ม.จ. ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ. ลายฉลุทอง ทองใหญ่, ปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ, ประยูร ภมรมนตรี และแนบ พหลโยธิน

[2] โปรดดูเพิ่มเติม นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553), ศราวุฒิ วิสาพรม, “ประวัติศาสตร์สามัญชนในสังคมไทยสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ พ.ศ. 2475-2490,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557), ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2562) และ Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern Thailand, (NewYork : State University of New York,  2021)

[3] กษิดิศ อนันทนาธร. (10 พฤษภาคม 2563). อนุสาวรีย์ที่มีค่าของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/pridi-monument/  

[4] เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130 พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)

[5] ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528), หน้า 14.

[6] แถวหน้าจากซ้าย ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ วิจิตร วิจิตรวาทการ ชม จารุรัตน์ แถวยืนจากซ้าย ได้แก่ ควง อภัยวงศ์ แถบ อภัยวงศ์ ดวง รักตรประจิต

[7] ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528), หน้า 19-20.

[8] นับตามปฏิทินแบบเดิม, หากนับตามปฏิทินแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2470

[9] ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528), หน้า 29-32.

[10] เลขา อภัยวงศ์,  อนุสรณ์เนื่องในพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ท.จ.ท.ม. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526, (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์, 2526)

[11] ’รงค์ วงษ์สวรรค์, วานปีศาจตอบ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549), หน้า 387-403.

[12]  ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.), หน้า 66.

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 56-65.

[14] จากซ้าย ภาพคนที่ 4 คือ ปรีดี พนมยงค์,  ด้านขวาสุดคือ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ และคนที่ 2 จากด้านขวาคือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี

[15] เกร็ดประวัติศาสตร์หลังจากนั้นแสดงถึงความสนิทสนมของทั้งคู่ไว้ว่า เมื่อทราบว่า ปรีดี ต้องลี้ภัยครั้งแรก ทำให้ พ.ท. หลวงทัศนัยนิยมศึก (บรรดาศักดิ์ของ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี) ถึงกับสตาร์ทรถถังออกเตรียมบุกวังปารุสกวัน โดยที่ พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม ต้องวิ่งวุ่นห้ามทัพ และปลอบโยนให้ใจเย็นๆ ไว้ จะหาทางแก้ไขกันต่อไป ต่อมาหลวงทัศนัยนิยมศึก พร้อมด้วย ร.ท. ทวน วิชัยขัทคะ และจรูญ สืบแสง ยังกล้าเดินทางไปส่งปรีดี กับพูนศุข ภรรยาถึงปีนัง ซึ่งแสดงถึงมิตรภาพอันดีที่มีต่อปรีดี และครอบครัว

[16] ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี

[17] ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.), หน้า 85-87.