ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

15 ผลงานชิ้นสำคัญของปรีดี พนมยงค์ ที่คนไทยไม่ควรลืม

11
พฤษภาคม
2567

ผลงานและบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ นับจากการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2490 ปรากฏชัดว่ามีเจตนารมณ์ทำเพื่อชาติและราษฎรเป็นหลักโดยยึดโยงกับหลักปรัชญาที่นายปรีดีเรียกว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบด้วยหลักเอกราชอธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง และประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ครอบคลุมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ดังนั้นความมุ่งหมายของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญจึงอยู่บนพื้นฐานการมีเอกราชของชาติ และการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นหัวใจสำคัญเช่นที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนในหลัก 6 ประการของคณะราษฎรและปรากฏเป็น 15 ผลงานสำคัญดังต่อไปนี้

 

1. การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้ประกาศปฏิญญาเพื่อพัฒนาประเทศไว้เป็นหลัก 6 ประการ ดังนี้

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

2. เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 วัน คณะราษฎรได้นำร่าง “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475” ซึ่งร่างโดย “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” หรือนายปรีดี พนมยงค์ ทูลเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 7 เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยปฐมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1 อย่างชัดเจนและหนักแน่นในเจตจำนงว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 7 ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายไปก่อน และให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475” ซึ่งนายปรีดีเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงคนเดียวที่มาจากคณะราษฎร ส่วนคณะกรรมการที่เหลืออีก 8 คน ล้วนแต่เป็นขุนนางในระบอบเก่าทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 จึงเป็นการประนีประนอมกันระหว่างระบอบใหม่และระบอบเก่า ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเต็มใบ

 

3. เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ

เนื่องจากนายปรีดีเห็นว่า “เศรษฐกิจเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม” จึงต้องเร่งนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติต่อรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี 2476 ตามคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน โดยให้เหตุผลในการวางรูปเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ว่า

“การบำรุงความสุขของราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญ คือ บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร”

สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ก็คือ การให้การประกันสังคมแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย หรือที่ปรีดีเรียกว่า “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และรัฐเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ (ไม่ใช่ทั้งหมด) ในรูปแบบสหกรณ์สังคมนิยม (Socialist Cooperative) ซึ่งโดยเป้าหมายแล้วก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนั่นเอง

ถึงแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะเป็นเพียง “เค้าโครง” แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลพระยามโนฯ จนถึงขั้นประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร (ทั้งที่ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสภาฯ) และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมกับออกแถลงการณ์ประณามปรีดีว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงมติว่าปรีดีไม่มีมลทินตามที่ถูกกล่าวหา

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจไม่ใช่แนวคิดคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่มีการยึดที่ดินของคนรวย ไม่ทำลายนายทุน แต่ต้องการสมานประโยชน์ระหว่างนายทุนกับแรงงานให้ไปด้วยกัน นอกจากนี้ รัฐยังรับรองกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มีอยู่เดิม และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการประดิษฐ์คิดค้นของบุคคลซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

4. จัดตั้งเทศบาลทั่วประเทศ

นายปรีดีได้จัดรูปแบบการบริหารส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้ปกครองตนเองและมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงโดยริเริ่มจัดตั้ง “เทศบาล” ขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ. เทศบาลฯ และยังได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ฯ ด้วย เพื่อให้สอดคล้องตามระบอบรัฐธรรมนูญ คือให้มีสภาเทศบาลประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาแบบเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร มีนายกเทศมนตรีบริหารงานท้องถิ่นแบบเดียวกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การปกครองระบอบเทศบาลของส่วนท้องถิ่นนี้ นับว่าเป็น “การปกครองโดยราษฎรเพื่อราษฎร” อย่างใกล้ชิดที่สุด และยังเป็นการปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยให้หยั่งรากทั่วประเทศเพื่อเป็นหลักประกันว่าต้นประชาธิปไตยจะไม่มีวันถูกถอนรากถอนโคนให้สิ้นซากได้  

 

5. ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 1 ปี นายปรีดีได้เริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศเพื่อเป็น “ตลาดวิชา” ที่ให้ความรู้ทางกฎหมายทางการเมืองการปกครองแก่ประชาชนอันเป็นรากฐานทางความรู้ที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเพศและอายุ ตามคำมั่นที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

 

6. เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ทำให้ไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไทยถูกมหาอำนาจหลายประเทศบังคับให้จำต้องทำสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค โดยยอมให้ประเทศเหล่านั้นมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนไทยไม่ต้องขึ้นศาลไทย และมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เรียกว่า “สภาพนอกอาณาเขต” ส่วนในทางเศรษฐกิจ ไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 (ร้อยชักสาม) ของราคาสินค้าขาเข้า ผูกมัดไม่ให้เก็บศุลกากรตามชายแดนแม่น้ำโขง ฯลฯ

เมื่อนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้เริ่มลงมือปลดแอก ผ่านการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว โดยใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสัญญานั้น แล้วยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ และได้ใช้ความพยายามเจรจาโดยอาศัยหลัก “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ทำให้ไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในทางการเมือง ในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ

 

7. ปรับปรุงภาษี และสถาปนาประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรก

นายปรีดีได้ปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคมซึ่งเป็นที่มาของภาษีอัตราก้าวหน้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือใครมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ใครมีรายได้น้อยก็เสียน้อย ใครบริโภคฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีทางอ้อมมาก ตามส่วนแห่งความสามารถที่จะเสียภาษีได้ จากเดิมที่ไม่ว่าคนจนหรือมั่งมีก็ต้องเสียภาษีเท่ากัน

ในขณะเดียวกันก็ยกเลิกภาษีที่ขูดรีดขูดเนื้อราษฎรออกไปทันที เช่น ภาษี “รัชชูปการ” หรือภาษีส่วย ซึ่งราษฎรต้องเสียให้เจ้าศักดินา รวมถึงยกเลิกอากรยิบย่อยทั้งหลาย เช่น อากรค่านา อากรสวน ซึ่งราษฎรที่ทำนาทำสวนต้องส่งบรรณาการให้แก่เจ้าศักดินา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สถาปนา “ประมวลรัษฎากร” เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม ใช้มาจวบจนปัจจุบัน

 

8. การจัดการป้องกันทรัพย์สินของชาติด้วยการซื้อทองคำ

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ใช้วิธีมีเงินปอนด์สเตอลิงค์เป็นทุนสำรองเงินตราฝากธนาคารอังกฤษไว้ในประเทศอังกฤษภายหลังการอภิวัฒน์สยามเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่าง พ.ศ. 2481-2484 ในช่วงนี้นายปรีดีได้สร้างการคลังที่เป็นธรรมแก่ราษฎรและจัดการป้องกันทรัพย์สินของชาติด้วยการซื้อทองคำในข้อหลังนี้ นายปรีดีคาดคะเนว่าเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราจำหนวนหนึ่งซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ 1 ล้าน เอานซ์ หรือ 35 ล้านกรัม ในราคาประมาณเอานซ์ละ 35 เหรียญสหรัฐอเมริกาและได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลังและยังคงรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้ ทองคำจำนวนดังกล่าว ได้ทวีมูลค่าขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งขณะนี้ (ปี 2567) ราคาทองคำในตลาดโลกมีราคาประมาณเอานซ์ละ 2,360 เหรียญสหรัฐอเมริกา (USD) ฉะนั้น ต้นทุนที่ปรีดีฯ ในฐานะรัฐมนตรีคลัง ได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังเป็นราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น บัดนี้ทองคำดังกล่าวของชาติไทยมีค่า 2,360 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (USD

 

9. ก่อตั้งธนาคารชาติ

หลังจากการปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมได้สำเร็จลุล่วงแล้ว นายปรีดีได้ริเริ่มสร้างเสถียรภาพด้านการคลังในลำดับขั้นต่อไป คือ การตั้งธนาคารกลางของชาติไทย ดังที่เขียนไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เนื่องจากเรื่องการธนาคารเป็นของใหม่ คนไทยยังไม่คุ้นชิน แต่นายปรีดีเล็งเห็นว่าจะเกิดสงครามขึ้นในยุโรปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของไทยด้วยจึงต้องเร่งลงมือทำไปที่ละขั้น

ตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ใน พ.ศ. 2483 และฝึกหัดเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม จนดำเนินงานไปได้ด้วยดีแล้วจึงจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้น ตาม พ.ร.บ. ธนาคารชาติไทย พ.ศ. 2485 เป็นธนาคารแห่งชาติ และได้พัฒนาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา

 

10. “พระเจ้าช้างเผือก” (The King of The White Elephant)

ในยุคสมัยของสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดีได้ประพันธ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ The King of the White Elephant เป็นภาษาอังกฤษโดยมีเนื้อหาสาระที่ต้องการกล่าวถึง สงครามและสันติภาพ ว่าเป็นเรื่องของผู้นำกับผู้นำ หรือกษัตริย์กับกษัตริย์หาใช่เรื่องราษฎรหรือประชาชนแต่อย่างใด

ในเวลาต่อมาบทประพันธ์ดังกล่าวได้ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์เสียง ขาว-ดำ โดยนายปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้อำนวยการสร้าง ภาพยนตร์มีรูปแบบภาษาอังกฤษ เป็นการสื่อสารถึงแนวคิดของนายปรีดีที่มีต่อจุดยืนและสถานภาพของประเทศไทยในบริบทสงครามโลกที่กำลังเกิดขึ้น ต่อประเทศมหาอำนาจในช่วงเวลานั้นที่ภัยจากสงครามกำลังคืบคลานเข้ามาในประเทศไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยฉายพร้อมกันถึงสามเมืองคือ กรุงเทพฯ นิวยอร์ก และสิงคโปร์

นายปรีดีเขียนถึงเหตุผลที่แต่งเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ไว้ในคำนำหนังสือเล่มนี้ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 ว่า “นิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้ มีพื้นเรื่องเดิมมาจากเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นที่รู้จักกันดี คือ การรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมักจะยกเรื่องช้างเผือกจำนวนไม่กี่เชือกมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงก็เพื่อขยายบารมีและอานุภาพส่วนตัว ความปราชัยของจ้าวผู้ครองนครที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน กระหายอำนาจ ก้าวร้าวในการต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนศึกของไทยที่ยิ่งใหญ่ และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ชัยชนะอันเด็ดขาดของธรรมะ อันเป็นอำนาจที่ได้จากการปฏิบัติตามกรุณาธรรมและเมตตาธรรม และปรากฏอยู่ในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าสองพันสี่ร้อยปีแล้ว ก็ยังคงเป็นประดุจประทีปแห่งความกรุณาที่ฉายแสงนำทางจิตใจของมนุษยชาติทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความหายนะ นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนี้ มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

 

11. จัดตั้ง “องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League)

“องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League) คือหนึ่งในแนวคิดของนายปรีดีที่ปรากฏตัวขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือการรวมตัวของประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียวันตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้เกิดขบวนการชาตินิยมปลดแอกจากมหาอำนาจอาณานิคมหลายประเทศ เพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพและความเป็นมิตรกันของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

หากภายใต้ระเบียบโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์จนส่งผลให้ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ และอุดมการณ์ทางการเมืองจนกลายเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และผลงานของนายปรีดีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือความพยายามก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดของนายปรีดีในการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League) นี้มีขึ้นเมื่อไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกแต่นายปรีดีกล่าวว่าไม่ได้อ้างเรื่องสันนิบาตนี้ว่าเป็นความคิดริเริ่มของท่านเองโดยเฉพาะ

และนายปรีดีมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่กลางระหว่างจีนและอินเดีย ถ้าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแยกกันก็จะอยู่ได้ลำบากถ้ารวมกันสมานกันได้ก็จะเป็นพลังอันหนึ่งจึงได้ตกลงกันเรื่องสมาคม (สันนิบาต) มีลาว เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มอญ และไทยใหญ่มาร่วมประชุมกันแต่ยังมิได้ลองลงมือตั้งให้เป็นทางการซึ่งแนวความคิดนี้ก็ได้นำไปสู่การก่อตั้ง “อาเซียน” ได้สำเร็จในอีก 4 ทศวรรษถัดมา

 

12. จัดตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น ปรีดีได้เล็งเห็นแนวโน้มว่าลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์จะเป็นชนวนให้เกิดสงคราม จึงได้สร้างภาพยนต์ “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้น เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพและคัดค้านสงครามผ่านไปยังนานาประเทศโดยแสดงจุดยืนอย่างแจ่มชัดด้วยพุทธภาษิตที่ปรากฏในภาพยนต์ว่า “ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ” และยังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามก็พร้อมที่จะต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี

แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น รัฐบาลจอมพล ป. ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลาง ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้ประเทศไทยรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด จึงไม่ยอมลงนามในประกาศสงคราม และยังได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในทันที ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” โดยมีภารกิจในการต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน และปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนไทย

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็น “โมฆะ” ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม มีการเดินขบวนสวนสนามของขบวนการเสรีไทยอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงว่าชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง

 

13. ดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ท่านปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จกลับประเทศไทยเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นคินด้วยพระองค์เอง และได้เสด็จถึงพระนครเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการให้นายปรีดี เป็นรัฐบุรุษอาวุโสตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า

 

ประกาศ
อานันทมหิดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นเอนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2488 เป็นปีที่ 12 ในรัชชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี

 

ความสำคัญของตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโสคือ เป็นตำแหน่งเกียรติยศที่จัดให้มีขึ้นเป็นพิเศษครั้งแรกในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2488 และผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้เป็นท่านแรกก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 โดยบทบาทของนายปรีดีในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีความโดดเด่นด้วยการทำเพื่อชาติและราษฎรไทยด้วยการเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งเสรีไทยเป็นคณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านฝ่ายอักษะและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

นอกจากนี้นายปรีดียังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์อันถือเป็นราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับพระราชทานใหเแก่นายปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสไปพร้อมกันดังนี้

 

แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์

ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า แก่นายปรีดี พนมยงค์

แจ้งความ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2488
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี

 

เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์

ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ คือเครื่องขัตติยราชอิสสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์แก่

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

เครื่องราชอิสสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์แก่ นายปรีดี พนมยงค์

แจ้งความ ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2488
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี

 

14.สถาปนารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉบับ 2489

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการอภิวัฒน์ 2475 จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลชั่วคราวที่จะต้องเปลี่ยนระบอบเก่าที่มีมาแต่โบราณ ให้เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบนั้น ต้องมีกึ่งประชาธิปไตยก่อน ทำให้ยังไม่สามารถให้สิทธิประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่แก่ราษฎร ในระยะแรกของการจัดตั้งระบบรัฐสภา จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ 2 ประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และสมาชิกประเภทที่ 2  ที่มาจากสมาชิกคณะราษฎร โดยมีกรอบเวลาเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการปกครองในระบอบใหม่ดีขึ้น

ต่อมาเมื่อการปกครองในระบอบใหม่เข้าที่เข้าทางดีแล้ว ปรีดีได้เสนอต่อรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ว่าเห็นควรที่จะยกเลิกบทเฉพาะกาลและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามคำมั่นที่ให้ไว้กับราษฎรได้แล้ว สมาชิกประเภทที่ 2 จึงได้ร่วมมือกับสมาชิกประเภทที่ 1 จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ขึ้นแทนฉบับ 2475

รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2489 ได้บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย “พฤฒิสภา” (Senate) กับ “สภาผู้แทนฯ” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด จึงเป็นผู้แทนปวงชนอย่างสมบูรณ์ตามความหมายของ “ประชาธิปไตย” คือ ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ นอกจากนี้ยังให้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แก่ปวงชนชาวไทยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ

หากแต่ว่ารัฐธรรมนูญ 2489 นี้มีอายุสั้นเพียง 18 เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหาร 2490 โค่นล้ม พร้อมกับการลี้ภัยทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ แล้วคณะรัฐประหารก็ได้สถาปนาระบอบการปกครองขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎรเลย

 

15. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมขอร้องให้ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.  2489 แต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ภายหลังที่ได้เปิดการประชุม รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 แล้วนายปรีดีได้พิจารณาว่าแม้รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบังคับว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเมื่อใด รัฐบาลก็ต้องลาออกเพราะนายปรีดีเห็นว่าตามมารยาทนั้นรัฐบาลควรลาออกเพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับรัฐบาลต่อไป ฉะนั้นทางนายปรีดีจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไปรวมเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่หนึ่ง 2 เดือน กับ 10 วัน

ครั้งที่ 2 เมื่อประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ตามความเห็นชอบของสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนฯ ว่า สมควรโปรดเกล้าแต่งตั้งนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายปรีดียังไม่ทันจะตั้งคณะรัฐมนตรีก็เกิดกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 9 เดือนมิถุนายน ทางนายปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไปโดยรัฐสภาเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ และเมื่อเสร็จการประชุมรัฐสภาแล้วทางนายปรีดีได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง 2 วันเท่านั้น

ครั้งที่ 3 ประธานรัฐสภาด้วยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาส่วนมากได้เสนอคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกันให้แต่งตั้งนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม รวมเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 เป็นเวลา 2 เดือน 10 วัน

แม้จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ทางนายปรีดีและคณะฯ ประกอบด้วย ดร.วิทย์ ศิวะศริยานนท์  ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศได้เดินทางไปเป็นทูตสันถวไมตรีใน 9 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์โดยเสร็จสิ้นภารกิจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490

 

บรรณานุกรม :

  • คลังสารสนเทศบัญญัติ, “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร”. ครั้งที่ 24/2476 (สามัญ) สมัยที่ 2
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พระเจ้าช้างเผือก : ภาพยนตร์แห่งสันติภาพท่ามกลางกองเพลิงสงคราม . เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2021/04/656
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2553)
  • ปรีดี พนมยงค์. 2476. เค้าโครงการเศรษฐกิจ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567. https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113
  • ปรีดี พนมยงค์. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567. https://pridi.or.th/th/libraries/1621575375 
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว” ฉบับ 27 มิถุนายน 2475. น. 166-179, เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567. https://parliamentmuseum.go.th/constitution-law/2475-1.PDF
  • ไสว สุทธิพิทักษ์. (28 เมษายน 2565). เสถียรภาพเงินตรากับความมั่นคงของชาติ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2022/04/1070
  • อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ. มอง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในปัจจุบัน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2020/05/244