ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์: ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ตอนที่หนึ่ง

11
พฤษภาคม
2564

กระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงไหลเชี่ยวกรากยิ่งในช่วงทศวรรษ ๒๔๖๐ และ ๒๔๗๐ เริ่มตั้งแต่การล่มสลายลงของจักรวรรดิรัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งราชวงศ์โรมานอฟถูกโค่นล้มโดยพรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของ วลาดิมีร์ เลนิน และ เลออน ทรอตสกี้ ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้มลงโดยพรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การเคลื่อนไหวอันยาวนานของ ดร. ซุนยัดเซ็นและคณะ

หลายประเทศในอาเซียนมีการก่อตัวของขบวนชาตินิยมต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของ โฮจิมินห์แห่งเวียดนาม นายพลซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย เจ้าสุภานุวงศ์แห่งลาว เจ้าสีหนุแห่งกัมพูชา และ นายพลอองซานแห่งพม่า    

การก่อตัวของขบวนการอภิวัฒน์เกิดขึ้นในสยามเช่นเดียวกัน ในสยามนั้น ขบวนการก่อตัวเกิดขึ้นอย่างช้าๆ สยามอยู่ภายใต้บริบทที่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นมหาอำนาจล่าอาณานิคม แม้นจะสูญเสียอธิปไตยบางส่วนไป แต่อำนาจศูนย์กลางภายใต้การนำของสถาบันกษัตริย์ไทยยังคงเข้มแข็งและกุมสภาพไว้ได้

ไม่มีคณะใดกระทำการจนสำเร็จหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากราชสำนัก แม้นจะมีความกล้าหาญและเสียสละมากเพียงใดก็ตาม

มีความพยายามแต่ก็ล้มเหลว เช่น เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ความเคลื่อนไหว ร.ศ.  ๑๐๓ นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

คณะนักปฏิรูป ร.ศ. ๑๐๓ เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะบุคคลดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อขบวนการปฏิรูปและขบวนการอภิวัฒน์ในเวลาต่อมา ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้นำมาสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหลายด้านในสมัยรัชกาลที่ ๕

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ คณะทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งนำโดย ‘ขุนทวยหาญพิทักษ์’ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ได้พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นแต่ไม่สำเร็จ

‘ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์’ และ ‘ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์’ แกนนำของคณะทหารหนุ่มผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “หมอเหล็งรำลึก”  โดย ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“สาเหตุส่วนสำคัญยิ่งของความคิดปฏิวัติอยู่ที่ความรักชาติยิ่งกว่าชีวิต และมีความปรารถนาอย่างมุ่งมั่นที่จะให้ชาติของตนเข้าถึงสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน จึงจำต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยเท่านั้นที่จะคิดชำระสะสางความเสื่อมสลายของสังคมชาติ ผดุงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของปวงชนชาวไทย .........

เรื่องเศรษฐกิจของชาติยังหาได้ดำเนินไปเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลายไม่ อย่างน้อยก็เยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเคยเดินคู่กันมาแท้ๆ กับประเทศไทยสมัยที่ปิดเมืองท่า แต่ครั้นญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบราชาธิปไตยภายใต้กฎหมายแล้ว มิช้ามินานเท่าใดนัก ความเจริญก้าวหน้าก็วิ่งเข้าหาประชาชาติของเขาอย่างรวดเร็ว จนเกินหน้าประเทศไทยอย่างไกลลิบ 

ทั้งนี้ก็เนื่องจากเขาปลุกพลเมืองของเขาให้รักชาติฉลาดหลักแหลมและมั่นคงในวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยโครงการการศึกษาอันแน่นอนตามเงื่อนเวลา มาเป็นกำลังการปกครองและแก้เศรษฐกิจแห่งชาติ ........... 

ส่วนกำลังเงินงบประมาณของชาติที่เคยฟุ่มเฟือยก็รวบรวมสะสมด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความประหยัด จากการเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองนั้นชั่วไม่กี่ปี ญี่ปุ่นก็มีการค้าไปทั่วโลกจากผลิตผลแห่งอุตสาหกรรมของตนเอง .......... 

ส่วนของไทยเราสิ ยังล้าหลังอย่างน่าเวทนาสงสารยากที่จะหยิบยกภาวะใดอันเป็นความเจริญก้าวหน้าแห่งสังคมชาติมาเทียบเคียงให้ชื่นอกชื่นใจได้ มิหนำซ้ำยังมีเหตุการณ์ภายในบ้านเมือง”

 

คณะผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐
คณะผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐

 

ความสำคัญของ “คณะ ร.ศ. ๑๓๐”  มิใช่อยู่ที่ว่าสมาคมนี้กระทำการสำเร็จหรือล้มเหลว แต่เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ นี้เป็นปรากฎการณ์สะท้อนภาพความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยของกลุ่มทหารหนุ่มและข้าราชการรุ่นใหม่

และ เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๐๓ ตลอดจนการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ห้า ทำให้เกิดขุนนางสามัญชนหรือข้าราชการจากสามัญชนกลุ่มใหม่ 

การปฏิรูปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้กลายเป็น พลังล้มล้างระบอบนี้เสียเอง

ความเคลื่อนไหวของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ แม้นจะถูกปราบปรามลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ หรือ ร.ศ. ๑๓๐ ก็ตาม แต่ความไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมืองและความล้าหลังทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ในหมู่ชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่และปัญญาชนทั้งหลาย

ความคิดอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาก่อนที่จะไปเรียนฝรั่งเศสทั้งจากเหตุการณ์ในประเทศอย่าง เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ แรงบันดาลใจจากข้อเขียนของ เทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ และเหตุการณ์การปฏิวัติในจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูโดย ดร. ซุน ยัด เซ็น

ท่านเทียนวรรณ หรือ วรรณาโภ ได้ออกนิตยสารชื่อว่า “ตุลวิภาคพจนกิจ” เรียกร้องให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบรัฐสภา แบบนานาอารยประเทศ

ก่อนที่นิตยสารตุลวิภาคพจนกิจถูกสั่งปิด นิตยสารเล่ม ๗ วันที่ ๘ กันยายน ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ได้ทำหน้าที่กระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างสมภาคภูมิหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน มีข้อความดังนี้

“ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังไม่ทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี
จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”

พอมาเรียนฝรั่งเศส ท่านปรีดี จึงไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนนักเรียนทั่วไป ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2466-2467 ท่านปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นในยุโรปจัดตั้งสมาคม สามัคยานุเคราะห์ หรือ มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า S.I.A.M

ลูกชาวนาจากอยุธยาอย่างอาจารย์ปรีดีนี้เป็นบุคคลที่เกิดขึ้นมาเพื่อถากถางทางเพื่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยแท้ ท่านอาจารย์ปรีดี ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓  (ค.ศ. ๑๙๐๐) ณ บ้านวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

นับถึงวันนี้ก็ถือว่า ครบรอบชาตกาล ๑๒๑ ปีพอดี ในช่วงปฐมวัยได้เริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีฯ (เปี่ยม) อำเภอท่าเรือจนกระทั่งอ่านออกเขียนได้แล้วเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวกซึ่งสมัยนั้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอท่าเรือ สอบไล่ได้ชั้น ๑ แห่งประโยค ๑ (ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการสมัยนั้นที่จำแนกการศึกษาสามัญออกเป็น ๓ ประโยคๆ ละ ๔ ชั้น ยังไม่ได้จำแนกเป็นชั้นมูล ประถม มัธยม)

ต่อมากระทรวงธรรมการได้จัดหลักสูตรใหม่เป็นชั้นมูล ประถม มัธยม จึงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า สอบไล่ได้ชั้นประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่แล้วย้ายไปศึกษาต่อชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรแล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๖ (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา โดยอาจารย์ เลเดแกร์ ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศเป็นผู้สอน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๒ สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัญฑิตได้ แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะยังมีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนถึงมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ จนได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตสภา

ระหว่างที่เป็นนักเรียนกฎหมายได้รับราชการและมีกิจกรรมพิเศษ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๖๑ เป็นเสมียนสำนักงานทนายความ พระวิชิตมนตรี (สุด  กุณฑลจินดา) อดีตอธิบดีศาลมณฑลชุมพร และอดีตผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๓ เป็นเสมียนโทกรมราชทัณฑ์ และในระหว่างนั้นได้รับอนุญาตพิเศษเป็นทนายความว่าความบางคดีอีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” ฝ่ายนิติศาสตร์และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ

เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาที่ฝรั่งเศสคือในปี พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๗ ได้ร่วมมือกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์และนักเรียนไทยในประเทศ ส่วนที่ขึ้นต่อสถานทูต สยามกรุงปารีส ตั้งเป็นสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” โดยได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับเลือกเป็นสภานายกสมาคม และในปี ๒๔๖๙ ได้รับเลือกตั้งเป็นสภานายกสมาคมอีกครั้งหนึ่ง

ในการก่อตั้ง “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ที่ฝรั่งเศสนี้ ท่านปรีดีได้ริเริ่มที่จะแปลงสมาคมให้เป็นสหภาพแรงงาน และได้เรียกร้องต่อท่านอัครราชทูตสยามสมัยนั้นซึ่งเป็นตัวแทนของระบบสมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสสมัยนั้นคือ  พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร โดยการประชุมประจำปีในระหว่างปิดภาคฤดูร้อน พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่คฤหาสน์ตำบลชาเครตต์ 

ในการประชุมครั้งนี้ ท่านปรีดีเห็นว่าผลสรุปที่ได้จากการประชุมเมื่อปีที่\]\แล้วนั้น เพื่อนนักเรียนส่วนมากได้ก้าวเข้าสู่แนวทางสมาคมการเมืองเพื่อระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นในการประชุมประจำปีครั้งที่ ๓ สำหรับ ค.ศ. ๑๙๒๖ นั้น คณะกรรมการสมาคมฯ จึงได้จัดให้มีการปาฐกถาการเมืองมากกว่าปีที่แล้ว เพื่อปรารถนาให้สมาคมก้าวไปอีกก้าวหนึ่งในการร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรมต่างๆจากท่านอัครราชทูต

ในการประชุมครั้งนั้น ท่านปรีดีได้เสนอให้ที่ประชุมอภิปรายถึงกิจกรรมของท่านอัครราชทูตที่เพื่อนนักเรียนเห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง ครั้นแล้วท่านปรีดีจัดให้มีการอภิปรายถึงวิธีจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงและเงินค่าใช้จ่ายสำหรับความเป็นอยู่ที่นักเรียนส่วนมากไม่ได้รับเท่าที่ควร เพราะเงินแฟรงค์มีค่าตกต่ำอยู่เรื่อยๆ นักเรียนส่วนมากทราบอยู่แล้วว่า 

ขณะนั้นสถานทูตให้ท่านปรีดีเป็นนักเรียนชั้น “อาวุโสสูง” (Super Senior) ที่ได้เงินเดือนจากสถานทูตมากกว่านักเรียนอาวุโสธรรมดา และการศึกษาของท่านปรีดีก็จะสำเร็จขั้นปริญญาเอกภายในอีกไม่กี่เดือน 

ฉะนั้น ท่านปรีดีจึงไม่มีเหตุเฉพาะตัวที่จะก่อเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตน  หากท่านปรีดีมีความเห็นแก่ความเป็นอยู่ของนักเรียนส่วนมากที่จะต้องเรียนอยู่ในฝรั่งเศสต่อไป ท่านปรีดีจึงเสนอที่ประชุมทำหนังสือยืนยันต่อท่านอัครราชทูตเพื่อขอให้พิจารณาเพิ่มเติมเงินค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนที่ได้เงินเบี้ยเลี้ยงหรือเงินเดือนน้อย และขอให้จ่ายเป็นเงินปอนด์ตามงบประมาณที่สถานทูตได้รับจากกรุงเทพฯ

โปรดติดตามตอนต่อไป

 

อ่าน : ปรีดี พนมยงค์: ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔๗๕ ตอนที่สอง