ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“เมอร์สิเออร์เลเดแกร์” อาจารย์ชาวฝรั่งเศสของนายปรีดี

24
เมษายน
2564

 

บ่ายวันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ผมสบโอกาสเข้าร่วมสัมภาษณ์คุณสุดา และคุณดุษฎี พนมยงค์ บุตรีของนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมคุณยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์ หลานชายผู้ใกล้ชิดขณะพำนักอยู่ในฝรั่งเศส ระหว่างสนทนาตอนหนึ่ง คุณยงจิตต์กล่าวถึงการที่เคยขับรถยนต์พานายปรีดีเดินทางไปเยี่ยมหลุมฝังศพอาจารย์ชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งนายปรีดีเคารพรักและนับถือมากๆ ณ สุสานต่างเมืองช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นประจำทุกๆ ปี 

พอเล่าตรงจุดนี้ ผมจึงเอ่ยถามคุณยงจิตต์ว่า 

“อาจารย์ชาวฝรั่งเศสคนนั้นคือใคร?”  

“ใช่อาจารย์เลเดอแกร์หรือเปล่า?” 

แม้คุณยงจิตต์จะนึกชื่อไม่ออก หากคุณสุดาได้เน้นย้ำสนับสนุน 

“ใช่ เมอสิเออร์เลเดแกร์”

นั่นบันดาลให้ผมหวนระลึกเรื่องราวของ ‘อาจารย์เลเดแกร์’ (E.LADEKER) ขึ้นมาครามครันอีกครั้ง

‘เมอร์สิเออร์เลเดแกร์’ (E.LADEKER) คือ นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส รัฐบาลสยามว่าจ้างให้เขาเป็นที่ปรึกษาศาลต่างประเทศกระทรวงยุติธรรม นายปรีดีทำความรู้จักเลเดแกร์เมื่อต้นทศวรรษ 2460 ตอนเข้าศึกษาโรงเรียนกฎหมาย และได้เรียนภาษาฝรั่งเศสโดยบุคคลนี้เป็นผู้สอน ณ เนติบัณฑิตยสภา 

ความสัมพันธ์ระหว่างครูชาวฝรั่งเศส กับลูกศิษย์หนุ่มแน่นแฟ้น เลเดแกร์เล็งเห็นความวิริยอุตสาหะ และความสามารถของนายปรีดี ครั้นลูกศิษย์สอบได้เป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2463 (จริงๆ สอบผ่านตั้งแต่ พ.ศ. 2462 แต่อายุยังไม่เต็มยี่สิบปีบริบูรณ์ จึงแต่งตั้งเป็นเนติบัณฑิตมิได้) ก็พยายามหมั่นแนะนำ และสนับสนุนให้ทางกระทรวงยุติธรรมคัดเลือกนายปรีดีส่งไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยทุนหลวง 

หลังจากนายปรีดีเป็นนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรมแล้ว ตอนออกเดินทางไปฝรั่งเศสทางเรือเดินสมุทร อาจารย์เลเดแกร์มิแคล้วร่วมเดินทาง เริ่มโดยสารเรือ ‘กัวลา’ จากกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2463 ในสมุดบันทึกของนายปรีดีซึ่งหน้าปกเป็นภาษาจีนและมีข้อความเขียนด้วยลายมือ ‘หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐’ พบถ้อยความระบุว่า

“กัวลาถึงสันดอนค่ำ รุ่งเช้าถูกพายุคลื่นแรง เมาคลื่น ครูเล. ช่วยพยาบาล อีกประมาณ ๔ วัน ถึงสิงค.”

นายปรีดีผู้เพิ่งไปเมืองนอกทางทะเลครั้งแรกในชีวิต โดนอาการเมาคลื่นเล่นงานไม่เบา ‘ครูเล.’ หรือ ‘อาจารย์เลเดแกร์’ ได้เข้าช่วยเหลือเยียวยานักเรียนหนุ่ม

เรือกัวลาเทียบท่าสิงคโปร์แล้ว นายปรีดีต้อง “คอยสิงค. ๑๕ วัน จึงซื้อตั๋ว Amazone” มูลเหตุที่รอเกิน 2 สัปดาห์กว่าจะได้ออกเดินทางสู่ทวีปยุโรปไปกับเรือเดินสมุทรชื่อ ‘Amazone’ ของบริษัท Messageries Maritimes ก็“เนื่องจากปลายสงคราม คนอยากกลับบ้าน หาเรือยาก” สงครามที่ว่าคือสงครามโลกครั้งที่ 1

เรือ Amazone ถอนสมอออกจากท่าเรือสิงคโปร์ประมาณวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) นายปรีดีชี้แจงว่า “อัตราไปชั้น ๑ ทุนหลวง ครูเล.กับเมียชั้น ๒ เงินส่วนตัว  จึงแยกกันกินกันอยู่ แต่ไปเยี่ยมเยือนระหว่างกันได้

สถานภาพนักเรียนทุนหลวงของรัฐบาลสยาม ทำให้เนติบัณฑิตหนุ่มปรีดีได้ตั๋วผู้โดยสารชั้นหนึ่ง  ส่วนอาจารย์เลเดแกร์กับภรรยาออกค่าใช้จ่ายเอง ได้เป็นผู้โดยสารชั้นสอง ตามแปลนเรือ กำหนดให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งอยู่บริเวณกลางเรือ อันเป็นจุดที่นิ่งที่สุด ส่วนผู้โดยสารชั้นสองอยู่บริเวณท้ายเรือ อาจสั่นกระเทือนเนื่องจากใกล้ใบพัด 

เรือเดินสมุทร Amazone  ล่องอยู่ในทะเลราว 25 วันก็ถึงจุดหมายชายฝั่งฝรั่งเศสที่มาร์กเซย (Marseille) ระหว่างทางได้แวะเมืองท่าต่างๆ เช่น โคลอมโบ (Colombo) เมืองหลวงของศรีลังกา, จีบูตี (Djibouti) ในทวีปแอฟริกา, คลองสุเอซ (Suez Canal) และ พอร์ต ซาอิด (Port Said) ในอียิปต์ นายปรีดีเขียนว่า 

“แวะโกลัมโบ, จีบูตี (Djibouti) ผ่านคลองสุเอซ แวะปอร์ตซาอิ๋ด แล้วมาเซยย์ ใช้เวลาประมาณ ๒๕ วันจากสิงค.”

ล่องเรือแล่นผ่านคลองสุเอซ พอแลเห็นภูมิทัศน์คลองขุดระดับโลก นายปรีดีพูดคุยกับครูเลเดแกร์ถึงเรื่องการขุดคอคอดกระในเมืองไทย ดังปรากฏถ้อยความในบันทึกที่เขานำมาเปิดเผยต่อนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2501

“…เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓  ขณะที่เรือลำซึ่งข้าพเจ้าโดยสารเพื่อไปยังประเทศฝรั่งเศสได้แล่นผ่านคลองสุเอซนั้น ข้าพเจ้าได้ถามอาจารย์เลเดแกร์ (ชาวฝรั่งเศสที่เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และ อาจารย์โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม) ซึ่งเดินทางไปด้วยถึงเรื่องราวของคลองสุเอซ  

เมื่ออาจารย์ได้เล่าให้ฟังพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ระลึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่ว่ารัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ดำริห์ที่จะขุดคลองที่คอคอดกระ แต่มีอุปสรรคเนื่องจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าจึงได้ถามอาจารย์ผู้นั้นว่า ถ้าประเทศสยามจะฟื้นความคิดขุดคลองคอคอดกระขึ้นมาอีก ต่างประเทศจะว่าอย่างไร?  

อาจารย์ตอบว่าสำหรับฝรั่งเศสไม่มีปัญหา คือถ้าขุดได้ก็เป็นการดี เพราะจะทำให้คมนาคมระหว่างฝรั่งเศสกับอินโดจีนทางทะเลสั้นเข้าอีก อาจารย์ได้เล่าให้ฟังถึงการที่ชาวต่างประเทศเคยเสนอโครงการต่อรัชกาลที่ ๕ เพื่อขอขุดคลองที่กล่าวนี้  ท่านแนะว่า ถ้าข้าพเจ้าสนใจที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในฝรั่งเศส  ก็ควรค้นคว้าศึกษาถึงเรื่องคลองนั้น  และเทียบเคียงดูกับเรื่องคลองสุเอซ คลองปานามา  คลองคีลของเยอรมัน คลองโครินธ์ของกรีก..”

นายปรีดีหวนคำนึงคำแนะนำของอาจารย์เลเดแกร์เสมอๆ ช่วงร่ำเรียนในฝรั่งเศส เขาพากเพียรค้นคว้าเรื่องการขุดคลองต่างๆ กาลต่อมาเมื่อมีโอกาสทำงานรับใช้ประเทศชาติ ครองบทบาททางการเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพุทธศักราช 2475  ปรีดีจึงเสนอโครงการขุดคอคอดกระ แต่ท้ายสุดมิอาจดำเนินการสำเร็จ เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและความมั่นคง

นายปรีดีขึ้นฝั่งที่มาร์กเซยย์ เมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศสในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2463  พักที่นั่น 1 วัน ก่อนอาจารย์เลเดแกร์จะพาไปรายงานตัวกับท่านเอกอัครราชทูตที่กรุงปารีส พักในเมืองหลวงอีก 15 วัน ตระเตรียมเรื่องการเรียน จากนั้นเดินทางสู่เมืองก็อง จังหวัดกาลวาโดส แคว้นนอร์มังดี ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส 

เข้าศึกษาวิชาความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัยก็อง (Lycée de Caen) และสอบเข้าศึกษาวิชากฎหมายระดับเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยก็อง (Université de Caen) ณ เมืองก็อง ศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ (Prof. Lebonnois) ผู้ที่จะเป็นอาจารย์คอยดูแลเขา ได้นำรถม้ามารับตัวไปพักที่บ้าน ดังปรีดีอธิบาย

“พักมาเซยย์ ๑ วัน ถึงปารีสเกือบ ๒ ยาม รุ่งขึ้น ม.เล พาไปรายงานอัครทูต พัก ๑๕ วันรอเสื้อผ้า, จัดหาที่เรียน แล้วไป Caen Calvados Normandie  Prof. Lebonnois เอารถม้ามารับรอง ขณะนั้น เมืองนั้นยังไม่มีรถยนตร์แทกซี พาไปพักที่บ้านท่าน”

 

‘ครูเล.’ หรือ ‘เมอร์สิเออร์เลเดแกร์’ ถือเป็นอาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้เปี่ยมล้นคุณูปการต่อนายปรีดี พนมยงค์อย่างสูง คอยดูแลและส่งเสริมให้ลูกศิษย์หนุ่มชาวไทยได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำกลับมาสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านเกิดเมืองนอน ไม่แปลกเลยที่นายปรีดีจะรักเคารพนับถือ และ สำนึกในพระคุณของอาจารย์ กระทั่ง ‘ครูเล.’ วายชนม์ไปเนิ่นนาน นายปรีดีในวัยชราก็ยังระลึกถึงจนออกเดินทางจากชานกรุงปารีสไปเยี่ยมคารวะหลุมฝังศพต่างเมืองประจำทุกปี นับเป็นสัมพันธภาพน่าประทับจิตยิ่งนัก



 

เอกสารอ้างอิง

ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2544

ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. บรรณาธิการ วิษณุ วรัญญู. พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553

ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนง ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529

ปรีดี พนมยงค์. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2525. .  กรุงเทพฯ : โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526

ปรีดี พนมยงค์. หัวข้อสังคมของอัตโนตั้งแต่บทที่ ๑๐. (สมุดบันทึก ยังไม่ตีพิมพ์)

วิชัย ภู่โยธิน. ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร. ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2539.

สุพจน์ ด่านตระกูล. ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์, 2514

ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร. ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “บันทึกการเดินทางไปสู่ฝรั่งเศสครั้งแรกของนักเรียนกฎหมายนาม ‘ปรีดี พนมยงค์’.” The MATTER (11 May 2020)

 

สัมภาษณ์

ดุษฎี พนมยงค์. อาคารชุดบ้านสาทร,  22 ธันวาคม 2563.

ยงจิตต์ สุนทร-วิจารณ์. อาคารชุดบ้านสาทร,  22 ธันวาคม 2563.

สุดา พนมยงค์. อาคารชุดบ้านสาทร,  22 ธันวาคม 2563.