ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ชีวประวัติและผลงานของท่านปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 1

3
พฤษภาคม
2567

Focus

  • อรุณ เวชสุวรรณ เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนถึงชีวิตและผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสลงในหนังสือพิมพ์หลายตอนโดยมีเป้าหมายคือ ต้องการให้คนรุ่นหลังได้ทราบผลงานของนายปรีดีอย่างรอบด้านทั้งผลงานทางการเมืองและงานเขียนสำคัญรวมถึงชีวประวัติย่อ
  • ผลงานสำคัญของนายปรีดีนับตั้งแต่เป็นผู้ริเริ่มการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง จัดตั้งเทศบาลทั่วประเทศ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทั้งยังได้ปรับปรุงภาษี และสถาปนาประมวลรัษฎากร ทั้งได้ก่อตั้งธนาคารชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จัดสร้างภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส และร่วมก่อร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉบับ พ.ศ. 2489
  • อรุณเสนอให้หลังการอภิวัฒน์นั้นคณะราษฎรเน้นไปที่หลัก 6 ประการ ซึ่งก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 คณะราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก 6 ประการโดยเฉพาะงานสำคัญของนายปรีดีที่ได้สรุปไว้ในสุนทรพจน์ เรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือ “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหลัก 6 ประการอย่างละเอียด

 

ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องราวของท่านปรีดีลงพิมพ์ใน น.ส.พ. หลายตอนจึงใคร่ขอเสนอประวัติและผลงานของท่านไว้เพื่อชนรุ่นหลังจะได้ทราบดังต่อไปนี้

ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นบุตรของ นายเสียงกับนางลูกจันทร์ พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐) ณ บ้านวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปฐมวัยได้เริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีฯ (เปี่ยม) อำเภอท่าเรือจนกระทั่งอ่านออกเขียนได้แล้วเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวก ซึ่งสมัยนั้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอท่าเรือ สอบไล่ได้ชั้น ๑ แห่งประโยค ๑ (ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการสมัยนั้นที่จำแนกการศึกษาสามัญออกเป็น ๓ ประโยคๆ ละ๔ ชั้น ยังไม่ได้จำแนกเป็นชั้นมูล, ประถม, มัธยม)

ต่อมากระทรวงธรรมการได้จัดหลักสูตรใหม่ เป็นชั้นมูล ประถม มัธยม จึงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่าสอบไล่ได้ชั้นประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่แล้วย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรแล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าจนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๖ (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนส่วนกุหลาบ อีก ๖ เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนาที่อยุธยาจนได้รับความรู้ทางปฏิบัติเป็นอันมากจากชาวนา

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา โดยอาจารย์ เลเดแกร์ (E. LADEKER) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศเป็นผู้สอน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๒ สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนบัณฑิตไม่ได้เพราะยังมีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนถึงมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตสภา

ในระหว่างที่เป็นนักเรียนกฎหมายได้รับราชการและมีกิจกรรมพิเศษ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ -๒๔๖๑ เป็นเสมียนสำนักงานทนายความ พระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา) อดีตอธิบดีศาลมณฑลชุมพร และอดีตผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๖๓ เป็นเสมียนโทกรมราชทัณฑ์ และในระหว่างนั้นได้รับอนุญาตพิเศษเป็นทนายความว่าความบางคดีอีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มแรกได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัย (Lycee) กอง (Caen) และศึกษาพิเศษจากอาจารย์ เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) ซึ่งเป็นเลขาธิการสถาบันคุรุศาสตร์ระหว่างประเทศ (Institut Pedagogique International) จากนั้นได้ศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง (Caen) สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “บาเชอลิเอร์” กฎหมาย (Bachelier en Droit) และสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ลิซองซิเอ” กฎหมาย (Licenaie en Droit) จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” (Docteur en Droit) ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (Diplome d’Etades Superieurse d’ Economic Politique)

เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาที่ฝรั่งเศสคือในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ - ๒๔๖๗ ได้ร่วมมือกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์และนักเรียนไทยในประเทศอื่น ส่วนที่ขึ้นต่อสถานทูตสยามกรุงปารีสตั้งเป็นสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” โดยได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับเลือกเป็นสภานายกสมาคม และในปี ๒๔๖๙ ได้รับเลือกตั้งเป็นสภานายกสมาคมอีกครั้งหนึ่ง

ในการก่อตั้ง “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ที่ฝรั่งเศสนี้ ท่านปรีดีได้ริเริ่มที่จะแปลงสมาคมให้เป็นสหภาพแรงงาน และการต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามสมัยนั้นซึ่งเป็นตัวแทนของระบบสมบูรณาฯ ซึ่งอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสสมัยนั้นคือ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร โดยการประชุมประจำปีในระหว่างปิดภาคฤดูร้อน พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่คฤหาสน์ตำบลชาเครตต์ ในการประชุมครั้งนี้ ท่านปรีดีเห็นว่าผลสรุปที่ได้จากการประชุมเมื่อปีที่แล้วนั้น เพื่อนนักเรียนส่วนมากได้ก้าวเข้าสู่แนวทางสมาคมการเมืองเพื่อระบบประชาธิปไตย ฉะนั้นในการประชุมประจำปีครั้งที่ ๓ สำหรับ ค.ศ. ๑๙๒๖ นั้นคณะกรรมการสมาคมฯ จึงได้จัดให้มีการปาฐกถาการเมืองมากกว่าปีที่แล้ว เพื่อปรารถนาให้สมาคมก้าวไปอีกก้าวหนึ่งในการร่วมกันต่อสู้ท่านอัครราชทูต ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล (สมบูรณาฯ) เพราะท่านปฏิบัติการไม่เหมาะสมหลายประการ

ในการประชุมครั้งนั้น ท่านปรีดีได้เสนอให้ที่ประชุมอภิปรายถึงกิจกรรมของท่านอัครราชทูตที่เพื่อนนักเรียนเห็นว่าไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง ครั้นแล้วท่านปรีดีจัดให้มีการอภิปรายถึงวิธีจ่ายเงินกระเป๋า (Pocket Money) และเงินค่าใช้จ่ายสำหรับความเป็นอยู่ที่นักเรียนส่วนมากไม่ได้รับเท่าที่ควร เพราะเงินแฟรงค์มีค่าตกต่ำอยู่เรื่อยๆ นักเรียนส่วนมากทราบอยู่แล้วว่า ขณะนั้นสถานทูตให้ท่านปรีดีเป็นนักเรียนชั้น “อาวุโสสูง” (Super Senior) ที่ได้เงินเดือนจากสถานทูตมากกว่านักเรียนอาวุโสธรรมดา และการศึกษาของท่านปรีดีก็จะสำเร็จขั้นปริญญาเอกภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน ฉะนั้น ท่านปรีดีจึงไม่มีเหตุเฉพาะตัวที่จะก่อเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตนหากท่านปรีดีมีความเห็นแก่ความเป็นอยู่ของนักเรียนส่วนมากที่จะต้องเรียนอยู่ในฝรั่งเศสต่อไป ท่านปรีดีจึงเสนอที่ประชุมทำหนังสือยืนยันต่อท่านอัครราชทูตเพื่อขอให้พิจารณาเพิ่มเติมเงินค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนที่ได้เงินกระเป๋าหรือเงินเดือนน้อย และขอให้จ่ายเป็นเงินปอนด์ตามงบประมาณที่สถานทูตได้รับจากกรุงเทพฯ

ในการกระทำเพื่อส่วนรวมของนักเรียนไทยในยุโรปครั้งนั้น พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตจึงได้โทรเลขด่วนถึงกระทรวงการต่างประเทศขอให้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ส่งตัวท่านปรีดีกลับประเทศโดยด่วนตามเหตุผลที่ท่านอัครราชทูตกล่าวหาว่าทำการประดุจเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงานโดยยุยงนักเรียนเรียกร้องเงินกระเป๋าหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้น ปฏิบัติการโดยขัดคำสั่งอัครราชทูต ฯลฯ ท่านปรีดีกับสมาชิกแห่งสมาคมฯ ก็ได้ถวายฎีกากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้แย้งคำกล่าวหาของท่านอัครราชทูต แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยถูกต้องแล้วว่าท่านปรีดีต้องรับผิดชอบในการที่จะแผลงสมาคมของนักศึกษาให้เป็นสหภาพแรงงาน

การเรียกร้องความเป็นธรรมของท่านปรีดีและสมาชิกแห่งสมาคมนักเรียนไทยในยุโรปครั้งนั้น ผลปรากฏว่ามีการตัดสินให้ท่านปรีดีเป็นผู้ผิด ให้กระทรวงต่างประเทศเรียกตัวกลับประเทศสยามทั้งที่ใกล้จะเรียนจบชั้นสูงสุดขั้นปริญญาเอกอยู่แล้ว ในที่สุดนายเสียง พนมยงค์ ผู้เป็นบิดาของท่านปรีดีก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อขอความกรุณาเลื่อนเวลาที่จะเรียกตัวท่านปรีดีกลับ รอจนกว่าสอบปริญญาเอกหมอกฎหมายเสียก่อน แต่ต้องให้ทำหนังสือขอประทานโทษพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร และให้ทำทานบนว่าจะอยู่ในถ้อยคำต่อไป (ดูเอกสารอันขมขื่นนี้ได้จากหนังสือชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับพิมพ์ที่ปารีส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕)[1]

 


พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร

 

ผลงานในฐานะผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในฐานะนายกสมาคม “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ท่านปรีดีจึงได้ร่วมกับเพื่อนอีก ๖ คน รวมเป็น ๗ คน ประชุมก่อตั้ง “คณะราษฎร” ครั้งแรกที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ (ปฏิทินไทยขณะนั้นเป็น พ.ศ. ๒๖๙ ปฏิทินไทยปัจจุบันเป็น พ.ศ. ๒๔๗๐) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งแรกคือ ๑. ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน) ๒. ร.ท. แปลก ขีตะสังคะ (นักศึกษาโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส) ๓. ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส) ๔. นายตั้ว ลพานุกรม (เดิมศึกษาในเยอรมนีสมัยพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ต่อมาเมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมัน นายตั้วฯ ถูกรัฐบาลเยอรมันจับไปเป็นเชลยศึกต่อมาเยอรมันทำสัญญาหยุดยิงกับพันธมิตร นายตั้วฯ ได้รับการปล่อยตัวแล้วเดินทางมาฝรั่งเศสสมัครเป็นทหารอาสาไทยได้รับยศเป็นจ่านายสิบ เสร็จสงครามแล้วไปศึกษาปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์ ๕. หลวงศิริราชไมตรี นามเดิม จรูญ สิงหเสนี (อดีตนายสิบตรีกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ ๑) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส ๖. นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานอาว์พระยาพหลพลพยุหเสนา-พจน์) และ ๗. ท่านปรีดี พนมยงค์

ทั้ง ๗ คนนี้ ถ้าพิจารณาตามรูปการณ์แล้วจะเห็นได้ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในยุโรปเวลานั้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านจึงเป็นหัวหน้าของคณะราษฎรโดยแน่นอน ต่อมาสมาชิกคณะราษฎรได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ

ระยะหลังมีผู้กล่าวโจมตีคณะราษฎรว่าไม่มีราษฎรที่แท้จริงเข้าร่วมรู้เห็นเป็นใจกับการปฏิวัติครั้งนั้นเลย เรื่องนี้ท่านปรีดีได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์เรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” ซึ่งจัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงาน “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ ๒๔ - ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอนหนึ่งในสุนทรพจน์นั้นมีว่า “ในบรรดาเหตุหลายประการซึ่งเกจิอาจารย์ที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อคณะราษฎรได้เสาะหาเอามาโจมตีคณะราษฎรนั้น ก็มีประการหนึ่งที่ท่านกับพวกได้สั่งสอนสานุศิษย์ว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายนฯ เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” โดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วย อันเป็นการจูงใจให้สานุศิษย์ไม่ยอมรับรู้การมีอยู่ของคณะราษฎรตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ผมจึงขอให้ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่และจำความสมัยสมบูรณาฯ โปรดระลึกและท่านที่เกิดภายหลังสมัยนั้น โปรดศึกษาถึงสถานการณ์ก่อตั้งคณะการเมืองสมัยสมบูรณาฯ และเกี่ยวกับวิชาการแท้จริงดังต่อไปนี้

๑. สมัยสมบูรณาฯ นั้นบุคคลไม่มีสิทธิ์รวมกันก่อตั้งคณะการเมือง ฉะนั้น การก่อตั้งคณะการเมืองจึงต้องทำเป็นการลับ และยิ่งเป็นคณะการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ล้มระบบสมบูรณาฯ แล้วยิ่งต้องก่อตั้งคณะเป็นการลับมาก ไม่อาจประกาศป่าวร้องให้ราษฎร หรือประชาชนจำนวนมากเข้ามาร่วมคณะการเมืองได้ ฉะนั้น จะนำเอาตัวอย่างของ “คณะเก๊กเหม็ง” ภายใต้การนำของซุนยัดเซ็นมาใช้แก่คณะการเมืองไทยในระบบสมบูรณาฯ ไม่ได้ เพราะคณะเก๊กเหม็งอาศัยเขตสัมปทานที่รัฐบาลจีนให้แก่ต่างประเทศนั้น ป่าวร้องให้ชาวจีนจำนวนมากเข้ามาร่วม

๒. ผู้เริ่มก่อตั้งคณะราษฎร ๗ คนที่ปารีสนั้น เป็นราษฎรไทยสมบูรณ์ ต่อมาได้ดำเนินการลับตามสภาพที่เหมาะสมสมัยนั้นร่วมกับราษฎรไทยอีกกว่าร้อยคนเข้าร่วมเป็นสมาชิก คณะราษฎรประเภทดี ๑ ซึ่งเป็นกองหน้า แล้วมีราษฎรประเภทดี ๒,ดี ๓ อีกมากมาย ที่สนับสนุนและสมทบกับกองหน้า ทั้งนี้แสดงชัดเจนว่าราษฎรไทยจำนวนพอสมควรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายนนั้น รู้เห็นด้วย ฉะนั้นจึงต่างกับผู้ที่ต้องการดำเนินตามยุทธศาสตร์จีนซึ่งต้องการใช้วิธีชนบทล้อมเมือง จึงต้องการให้มีพลเมืองจำนวนล้านๆ คนรู้เห็นด้วย ซึ่งจะต้องทำการรบกับรัฐบาลให้ถึงแก่ล้มตายจำนวนมากๆ

3. ขอให้นักวิชาการที่มีใจเป็นธรรมตรวจกันว่า มีตำรารัฐศาสตร์ของประเทศใดบ้างที่สอนว่า ถ้าจะตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมืองที่แปลชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ราษฎร” หรือ “ประชาชน” ไซร้ ก็จะต้องเสนอให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนเท่าใดรู้เห็นด้วยก่อน ถ้าสมมุติว่านักวิชาการผู้ใดยืนยันว่ามีตำรารัฐศาสตร์เช่นนั้น ก็ขอได้โปรดวินิจฉัยด้วยว่าในสมัยที่บางรัฐบาลไทยได้รับอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองได้นั้น มีคนตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคราษฎร” , “พรรคประชาชน” และ “พรรคสหประชาไทย” (จอมพลถนอมฯ เป็นหัวหน้า) แต่มีด็อกเตอร์หรือนักวิชาการใดบ้างทักท้วงว่า พรรคเหล่านั้นเรียกตนเองตามชื่อดังกล่าวโดยราษฎร, หรือประชาชน, หรือประชาไทยมิได้รู้เห็นด้วย?”

แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม “คณะราษฎร” ที่ริเริ่มโดยท่านปรีดีฯ ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้นได้ก่อตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จและถูกต้องตามกฎหมายในสมัยต่อมา เพราะเหตุว่าหลังจากปฏิวัติสำเร็จแล้วก็มีการรับรอง “คณะราษฎร” โดยผู้สำเร็จราชการพระนครแทนองค์พระมหากษัตริย์คือ จอมพลสมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ลงพระนามรับรองเป็นพระองค์แรก จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมคณะราษฎร ฉะนั้นจะมีผู้ใดว่าคณะราษฎรเป็นองค์การเถื่อนหรือคณะเถื่อนไม่ได้เป็นอันขาด

หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ประเทศชาติก็มีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับประเทศชาติก้าวเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรตามสมควร หากเป็นแต่ว่าผู้มีความละโมบในยศฐาบรรดาศักดิ์บางยุคบางสมัยได้นำระบบเผด็จการมาใช้จึงทำให้ประเทศชาติถอยหลังเข้าคลอง ไม่มีความเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งถ้าจะทำตามเจตนารมณ์ของหลัก ๖ ประการที่คณะราษฎรได้ตั้งเอาไว้อย่างแท้จริง ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้ารวดเร็วเป็นอันมาก แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่คณะราษฎรจะสลายตัวเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก ๖ ประการที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้สรุปไว้ในสุนทรพจน์ เรื่อง “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน” ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือ “กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย” ดังต่อไปนี้

“หลักประการที่ ๑ จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

“ผมขอให้ท่านที่สนใจโปรดระลึกถึงฐานะของสยามหรือประเทศไทยก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่าสมัยนั้นประเทศไทยไม่มีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ เพราะจำต้องทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เรียกว่า “จักรวรรดินิยม Imperialism” หลายประเทศที่มีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนประเทศไทย แต่ศาลไทยก็ไม่มีอำนาจตัดสินชำระลงโทษคนทำผิดเหล่านั้น หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี

แม้ต่อมาบางประเทศ อาทิ อังกฤษและฝรั่งเศสยอมผ่อนผันให้มีศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทย และที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมพิจารณาพิพากษาคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นก็ตาม แต่สนธิสัญญาก็ได้กำหนดไว้อีกว่า ถ้าความเห็นของผู้พิพากษาไทยกับที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปขัดแย้งกัน ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปเป็นใหญ่กว่าความเห็นของผู้พิพากษาไทย โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้พิพากษาไทยมีจำนวนมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป

แม้กระนั้นในสนธิสัญญายังได้กำหนดไว้อีกว่า คดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้นกงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและมีคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เรียกตามศัพท์กฎหมายระหว่างประเทศว่า “สภาพนอกอาณาเขต (Extraterri-toriality)”

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวก็มีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาค คือประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้ตามสนธิสัญญากำหนดไว้คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ ๓ ของราคาสินค้าขาเข้า แม้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาให้ได้สิทธิมากขึ้น แต่ยังมีข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมหลายประเทศได้มีสิทธิพิเศษโดยได้สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ การเดินเรือ ฯลฯ และมีอำนาจกับอิทธิพลในทางการเมืองเหนือประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ รัฐบาลซึ่งพระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้บอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมหลายประเทศดังกล่าวแล้ว ได้มีการเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ประเทศไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ

ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งประเทศไทยถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกราน สมาชิกคณะราษฎรจำนวนมากก็ได้เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยซึ่งได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน อันเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองความเป็นเอกราชของชาติไทย ดังปรากฏตามเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งผมได้นำลงพิมพ์ไว้ในหนังสือของผมว่าด้วย “จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา”

หลักประการที่ ๒ จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

“ผมหวังว่าท่านที่มีใจเป็นธรรมสามารถเปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายต่อกันสมัยก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กับ ภายหลัง ๒๔ มิถุนายนปีนั้นว่า จำนวนการประทุษร้ายภายหลัง ๒๔ มิถุนายน นั้นได้ลดลงมากเพียงใด และขอให้เปรียบเทียบสถิติการประทุษร้ายภายหลังที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔

๙๐ อันเป็นวันล้มระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นต้น มาจนถึงปัจจุบันนี้ว่าการประทุษร้ายต่อกันได้เพิ่มมากขึ้นขนาดไหน

หลักประการที่ ๓ จะต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

“ผมหวังว่าหลายคนก็ทราบแล้วว่า ผมในนามของสมาชิกคณะราษฎรส่วนมากได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติตามหลักประการที่ ๓ นั้น แต่ก็เกิดอุปสรรคขัดขวางที่ไม่อาจวางโครงการที่ผมเสนอนั้นได้ แม้กระนั้นคณะราษฎรก็ได้พยายามที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยหางานให้ราษฎรจำนวนมากได้ทำ จึงไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ขอให้ท่านที่มีความปรารถนาดีโปรดพิจารณาสถิติการโจรกรรมอันเนื่องจากความอดอยากของราษฎรนั้นในสมัยก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กับภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และภายหลัง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นต้นมาตามที่ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในเวลานี้

หลักประการที่ ๔ จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน ผมขอให้ท่านศึกษาประวัติศาสตร์แห่งความไม่เสมอภาคระหว่างคนไทยนั้นย่อมทราบแล้วว่าก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปมีสิทธิพิเศษกว่าสามัญชนหลายประการ อาทิ ในทางการศาลที่ท่านเหล่านั้นต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญาก็ไม่ต้องขึ้นศาลอาญา หากพระองค์ทรงขึ้นต่อศาลกระทรวงวังเป็นพิเศษ ฯลฯ

ต่อมาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้สถาปนาสิทธิเสมอภาคกันของราษฎรไทยทั้งหลายอันเป็นแม่บทของรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙

หลักประการที่ ๕ จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น

“ผมหวังว่าท่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ราษฎรมีเสรีภาพสมบูรณ์อย่างใดบ้าง เมื่อเทียบกับหลัง ๒๔ มิถุนายนนั้น และเทียบกับภายหลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ อันเป็นวันล้มระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ นั้นว่า แม้แต่จะได้มีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ แต่ในทางปฏิบัติได้หลีกเลี่ยงโดยวิธีประกาศภาวะฉุกเฉิน และประกาศกฎอัยการศึกเกินกว่าความจำเป็นเพียงใดบ้าง

หลักประการที่ ๖ จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร “ผมหวังว่าท่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น การศึกษาได้ถูกจำกัดอย่างไร และภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ราษฎรได้สิทธิศึกษาอย่างเต็มที่เพียงใด และภายหลัง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ราษฎรต้องถูกจำกัดการศึกษาอย่างใดบ้าง”[2]

ทั้งหมดนี้เป็นผลงานแต่โดยย่อๆ ของคณะราษฎรที่มีส่วนก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งคณะราษฎรที่มีอุดมคติเพื่อความเจริญวัฒนาถาวรของประเทศนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นหัวหน้าริเริ่มขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ดังได้กล่าวมาแล้ว

 

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม :

  • อรุณ เวชสุวรรณ, “ชีวประวัติ และผลงานของท่านปรีดี,” ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา, 2541)

 


[1] เรียบเรียงจากหนังสือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ฉบับพิมพ์ครั้งแรกที่ปารีส สิงหาคม ๒๕๒๕

[2] กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, กรุงเทพมหานคร, โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๒๕.