ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดีวางแผนสร้างพิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนลี้ภัยรัฐประหาร 2490

6
พฤศจิกายน
2565

เมื่อเอ่ยถึงหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนทั้งหลายย่อมมิแคล้วจะนึกเห็นภาพ “หอประชุมใหญ่” อันตั้งอยู่บริเวณด้านที่ติดกับสนามหลวง ก่อสร้างขึ้นสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกสุด เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี ของการสถาปนามหาวิทยาลัย โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ซึ่งอาคารแห่งนี้ยังคงอยู่และเปิดใช้งานเรื่อยมาตราบปัจจุบัน อีกทั้งพื้นที่บางส่วนด้านทิศใต้ของหอประชุมหรือทางฝั่งวัดมหาธาตุใกล้ๆ กับคณะสังคมสงเคราะห์ยังจัดทำเป็น "หอประชุมเล็ก" หรือที่เรียกขานว่า “หอประชุมศรีบูรพา” ตามนามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศิษย์เก่าคนสำคัญ

กว่าหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะจัดสร้างจนแล้วเสร็จ ก็ล่วงมาถึงสมัยที่ พลเอก ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) เป็นอธิการบดีช่วงทศวรรษ 2500 แต่คนทั้งหลายมักจดจำกันว่า “หอประชุมใหญ่” เป็นผลงานของ จอมพล ป.

มูลเหตุที่ได้มีการคิดจะสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยขึ้น สืบเนื่องจากนับแต่เข้าทศวรรษ 2490 จำนวนผู้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ขยายตัวอย่างมาก จนเกิดปัญหาเรื่องสถานที่เรียน สถานที่จัดประชุมและจัดกิจกรรมไม่เพียงพอ นักศึกษาจึงร้องเรียนต่อ จอมพล ป. อธิการบดี ขอให้ช่วยหางบประมาณมาสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยเพื่อแก้ไขความขัดข้องไม่สะดวกข้างต้น พอช่วงกลางทศวรรษ อธิการบดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยได้ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการจัดสร้าง “หอประชุมใหญ่” และในวันที่มาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ จอมพล ป. ยังกล่าวถ้อยคำว่า “แม้เสียชีวิตลง วิญญาณของข้าพเจ้าก็จะยังคงปกป้องมหาวิทยาลัยนี้”

แท้จริงแล้ว ความคิดที่จะสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยมิได้เพิ่งจะมาเริ่มในสมัย จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และสถานศึกษาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หากเคยมีความคิดที่จะจัดสร้างมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงปลายทศวรรษ 2480 ยุคที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และสถานศึกษายังใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”

อาจจะกล่าวว่า นายปรีดีเป็นผู้เริ่มดำริจะให้มีหอประชุมมหาวิทยาลัย ซึ่งคนหนึ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้คือ ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ เพราะตอนที่เขายังหนุ่มๆ เคยเข้าพบนายปรีดี เพื่อรับมอบหมายให้เป็นสถาปนิกออกแบบพิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สร้างขึ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี
หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สร้างขึ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดี

 

สมภพ เล่าย้อนถึงวันวานไว้ผ่านข้อเขียน “พิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ว่าขณะเขาเพิ่งเป็นนายทหารเรือชั้นผู้น้อย มีอยู่วันหนึ่ง เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ราชองครักษ์และนายทหารคนสนิทของ นายปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้มาหาสมภพ ณ ที่ทำการกองเทคนิค กรมอู่ทหารเรือ บริเวณข้างวัดระฆังโฆสิตารามและฝั่งตรงข้ามกับท่าราชวรดิษฐ์ พร้อมแจ้งให้ทราบเรื่องที่นายปรีดีปรารถนาจะให้สมภพเป็นสถาปนิกออกแบบพิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วจะนัดหมายวันเวลาที่ให้ไปเข้าพบ

 

ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์
ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์

 

เหตุที่ เรือเอก วัชรชัย มาติดต่อสมภพ เพราะบิดาของทั้งสองเป็นทหารเรือเหมือนกันและเป็นเพื่อนร่วมเมาสุราด้วยกัน ตอนสมภพเริ่มเป็นทหารเรือใหม่ๆ ต้องฝึกออกเรือในทะเล เรือเอก วัชรชัยก็คอยดูแลใกล้ชิด

บิดาของสมภพ คือ หลวงบรรเจิดเรขกรรม (ชม ภิรมย์) ซึ่งเป็นบุตรของเรือตรี เชย เรียกว่าเป็นทหารเรือกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ทีเดียว หลวงบรรเจิดฯ เป็นช่างเขียนแบบแห่งกองทัพเรือ เคยทำงานในกองคำนวณออกแบบสมัยที่ชาวเดนมาร์กยังเป็นผู้บังคับบัญชา และเป็นครูสอนวิชาเขียนแบบที่โรงเรียนนายเรือ ช่วงปี พ.ศ. 2472 - 2473 เคยออกแบบบ้านให้ หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ปลูกขึ้นในสวนเจริญพาศน์ 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลวงสินธุฯ เป็นหนึ่งในผู้ก่อการคณะราษฎรสายทหารเรือและได้ครองบทบาทระดับผู้บัญชาการกองทัพเรือ วันหนึ่งไปตรวจงานที่กรมอู่ทหารเรือแผนกสารวัตรช่างแล้วเดินผ่านมาทางแผนกออกแบบ แลเห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งกำลังเขียนแบบอยู่ ลายเส้นเรียบร้อยมาก จึงถามเจ้าหน้าที่ผู้บังคับบัญชา ทราบความว่าชื่อสมหมาย เป็นบุตรหลวงบรรเจิดฯ ได้ฝึกงานที่แผนกนี้ตั้งแต่เด็กๆ สมหมายต้องออกจากโรงเรียนตอนจบชั้นประถมสาม เพราะบิดาเป็นข้าราชการที่ “ถูกดุล” หรือถูกให้ออกจากงานสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อลดทอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ 

การมาฝึกหัดเป็นช่างเขียนแบบที่กรมอู่ทหารเรือทำให้สมหมายมีรายได้ส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือภาคค่ำ กระทั่งต่อมาเมื่อสมหมายเรียนจบชั้น ม.8 กำลังจะถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารบก หลวงสินธุฯ จึงทำเรื่องขอโอนนายสมหมายให้มาสมัครเป็นพลทหารเรือ ก่อนจะส่งไปศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกองทัพเรือ

การเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมในเมืองไทยเริ่มต้นขึ้น ณ โรงเรียนเพาะช่าง โดยมี นารถ โพธิประสาท ซึ่งช่วงทศวรรษ 2460 เคยได้รับทุนกระทรวงธรรมการให้ไปศึกษาวิชาแขนงนี้จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool) ประเทศอังกฤษ เป็นผู้วางหลักสูตรตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 ต่อมาในยุครัฐบาลคณะราษฎรได้โอนแผนกสถาปัตยกรรมของโรงเรียนเพาะช่างให้ไปเป็นแผนกวิชาสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาแยกออกมาเป็นแผนกอิสระหลักสูตรอนุปริญญา เพราะรูปแบบการเรียนแตกต่างจากวิชาวิศวะ พอปี พ.ศ. 2482 จึงได้ยกจากแผนกอิสระขึ้นเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาตรี

สมหมาย ภิรมย์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สมภพ” ถือเป็นบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นแรกสุด ช่วงระหว่างที่กำลังเรียนอยู่ ด้วยความสนิทสนมแน่นแฟ้นเรือเอก วัชรชัย หรือที่สมภพเรียกขานติดปากว่า “พี่ตุ๊” ยังเคยให้ออกแบบบ้านหลังเล็กๆ เพื่อปลูกขึ้นแถวซอยประสานมิตร ถนนสุขุมวิท

 

สมภพ ภิรมย์ เมื่อครั้งเป็นนายทหารเรือในวัยหนุ่ม ที่มา : หนังสือ บางสิ่ง...ไม่สูญ
สมภพ ภิรมย์ เมื่อครั้งเป็นนายทหารเรือในวัยหนุ่ม
ที่มา : หนังสือ บางสิ่ง...ไม่สูญ

 

เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช
เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช

 

ครั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี มีความประสงค์ว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เรือเอก วัชรชัยมิวายนึกถึงนายสมภพและเสนอชื่อต่อท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันหนึ่งสมภพได้รับแจ้งจาก “พี่ตุ๊” ว่า นายปรีดี ให้เข้าพบ โดยต้องไปเจอกับ สวาท อินทรสุขศรี ที่ประตูทำเนียบท่าช้าง เวลา 07.00 น. นายทหารเรือหนุ่มคุ้นเคยกับ สวาท อยู่บ้าง เพราะเคยแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ โดย สวาท เล่นตำแหน่งแบ็คหลังของฝ่ายธรรมศาสตร์

สวาท นำสมภพไปหา นายปรีดี ที่เรือนไม้ชั้นเดียวหลังเล็กๆ ตรงปากคลองคูเมืองเดิมที่ขุดเมื่อสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ทางออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้ๆ ทำเนียบท่าช้าง (คลองคูเมืองนี้อยู่ทางฝั่งพระนคร แต่ตอนนั้น สมภพยังเรียกอย่างเข้าใจผิดติดปากเป็น “คลองหลอด”)

สมภพเปิดเผยความรู้สึกตอนนั้น

 

“...ลองวาดภาพวาดมโนภาพดูว่า นายทหารยศเพียงนายเรือ ในเครื่องแบบนายทหารชั้นผู้น้อยเมื่อได้มีโอกาสพบ ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการรัฐบุรุษ ผู้นำผู้ต้นคิดในการปฏิวัติจากระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบปรมิตาญาสิทธิราช และ ฯพณฯ ทรงคุณวุฒิ เป็นด๊อกเตอร์กฎหมายจากฝรั่งเศส ทรงด้วยวิทยาคุณ บุคลิกภาพสง่างาม สุภาพเรียบร้อยและท่าทางภาคภูมิน่าเกรงขาม

แต่ท่านได้ให้โอกาสนายเรือเล็กๆ ได้มีโอกาสเข้าพบ ตัวต่อตัว นั่งตรงข้ามกันที่โต๊ะกาแฟ และมีกาแฟร้อนๆ ชงกลิ่นหอมฉุยในตอนเช้าอันสดใส ในบรรยากาศที่เรือนพักของ ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการ ท่านลองคิดดู ผมนายเรือเล็กๆ จะตื่นเต้น ระมัดระวังตัวเพียงใด”

 

ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย นายปรีดี แจ้งความจำนงของตนต่อสมภพว่า ต้องการจะสร้างพิพิธภัณฑ์เสรีไทยเป็นอาคาร 2-3 ชั้น เพื่อจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ของเสรีไทย รวมถึงมีแผนที่หรือตู้แสดงภาพของเสรีไทยที่ได้ปฏิบัติการในรูปแบบ “ออดิโอ วิชวล” (Audio Visual) แสดงสถานการณ์ทั้งทางบก ทางเรือโดยเฉพาะเรือดำน้ำ และทางอากาศที่เสรีไทยกระโดดร่มลง พร้อมทั้งมีหนังสือ เอกสาร และสิ่งพิมพ์เกี่ยวข้องกับกิจการเสรีไทย มุ่งเน้นให้ผู้มาเข้าชมดื่มด่ำบรรยากาศภารกิจกู้ชาติของเสรีไทย

ในฐานะผู้ประศาสน์การ นายปรีดี อยากสร้างหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้สามารถจุคนได้ประมาณ 1,200-1,500 คน สามารถเล่นละครได้ จัดฉายภาพยนตร์ได้ และจัดการประชุมได้แบบอเนกประสงค์

ทั้งอาคารพิพิธภัณฑ์เสรีไทยและอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็นคนละส่วนกัน แต่เชื่อมติดต่อกันด้วยห้องโถงกลางที่สง่างาม โดยกำหนดให้พิพิธภัณฑ์อยู่ทางด้านเหนือติดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ส่วนหอประชุมมหาวิทยาลัยอยู่ทางด้านใต้ฝั่งวัดมหาธาตุ

พื้นที่จัดสร้างคือ บริเวณโล่งกว้างของมหาวิทยาลัยด้านติดสนามหลวง (เป็นพื้นที่เดียวกันกับสถานที่ตั้งหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)

ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคารขอให้เขียนแบบออกมาร่วมสมัย แต่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทย ตามแต่ที่สถาปนิกจะจินตนาการคิดฝันได้เลย

ส่วนงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการสร้างมิได้จำกัด แต่ก็ถือหลักประหยัดตามความจำเป็น

สมภพขยายความเพิ่มเติม

 

“ผมจำได้ว่า ฯพณฯ ท่านเป็นผู้พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มช้า มีกังวาน ตาจับอยู่ที่หน้าผมราวจะสะกดจิต ส่วนผมนั้นนั่งตัวลีบ ขาชิดกัน มือกุมประสานบนตัก ไม่กล้าสบตาท่าน ท่านถามก็ครับๆ ไม่สู้แน่ใจ ไม่ประหม่าแน่ เพราะการประหม่าไม่ใช่นิสัยสันดานของผม แต่ตื้นตันใจ ภูมิใจมากกว่า

เมื่อได้เวลาพอควรแล้วลากลับโดยไม่รู้รสว่า “กาแฟ” ถ้วยนั้นจะมีรสอย่างไร ได้แต่จำกลิ่นกาแฟได้ว่า “หอม” ชวนดื่ม กาแฟถ้วยนั้นจึงเป็น “ถ้วยแรก และถ้วยสุดท้าย” ที่มีโอกาสดื่มกาแฟ ร่วมกับ ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิวิชาการ ผู้นำประชาธิปไตยมาสู่สยามประเทศ ผมไม่คาดคิดว่า เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้มีโอกาสสนทนากับรัฐบุรุษ”

 

หัวใจของนายเรือสถาปนิกหนุ่มย่อมเริงโลดที่ได้รับมอบหมายภารกิจยิ่งใหญ่ เขาขะมักเขม้นทำงานอย่างแข็งขัน

 

“เมื่อผมลากลับแล้ว เริ่มงานร่างแบบ ศึกษาแบบทันที คิด-คิด-ทำ-ทำ อยู่ประมาณ ๔ - ๕ วัน สำเร็จลงมือร่างแบบเรียกว่า Sketch design หรือ Preliminary Sketch พอเป็นเค้าโครง แสดงให้เห็นทั้งรูปแปลน รูปด้านสองด้านและรูปตัด แปลนอาคาร เหมาะสมสนองประโยชน์ใช้สอย (Functional) ดังที่ ฯพณฯ ต้องการ รูปร่าง (Form) มีสุนทรียภาพ เป็นอาคารสมัยใหม่ แต่แสดงเอกลักษณ์ไทย ดูรู้สึกเป็นไทย ลักษณะ (character) เป็นพิพิธภัณฑ์ และหอประชุม งานเสร็จแน่ ด้วยความภูมิใจ และรอเวลาขอให้พี่ตุ๊ (ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น.) ขอเข้าพบเพื่อนำแบบไปเสนอ ฯพณฯ”

 

ทว่ายังมิทันที่สมภพจะได้นำเสนอผลงานของเขาต่อท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

 

“แต่-แต่ พอเสร็จ หัวใจพองโต วิทยุแห่งประเทศไทยประกาศการรัฐประหาร เกิดรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม และ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางออกไปนอกประเทศแล้ว

สภาพของผมมือตก หลับตาสะอื้นในใจ โยนดินสอทิ้ง โชคหนอโชค แบบแปลนแผนผังต้องเก็บซ่อน เพราะกลัวว่าทางตำรวจจะนำคดีมาสู่ จะเป็นผู้ต้องหาเสียเปล่าๆ โดยไม่มีเจตนาทางการเมืองใดๆ ผมจึง เผา แบบแปลนแผนผังหมด และโอกาสจะเป็นสถาปนิกใหญ่แห่งทศวรรษของเสรีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็จบลงด้วยประการฉะนี้”

 

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมือง นั่นส่งผลให้ความปรารถนาของเขาที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองไม่เป็นไปตามความคาดหวัง มิหนำซ้ำ คนยุคปัจจุบันอาจจะไม่มีทางรับทราบความมีอยู่ของแผนการนี้เลย หากนายเรือสถาปนิกนาม สมภพ ภิรมย์ มิได้เขียนบันทึกเสียงเล่าจากประสบการณ์แห่งวันวานของตน !

 

เอกสารอ้างอิง

  1. นารถ โพธิประสาท. สถาปัตยกรรมในประเทศไทย. จัดพิมพ์ในวาระครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2556
  2. บางสิ่ง...ไม่สูญ. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ และนางจุนเจือ ภิรมย์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551. ม.ป.พ., 2551.
  3. สมภพ ภิรมย์, ศาสตราจารย์ น.อ.. “พิพิธภัณฑ์เสรีไทยกับหอประชุมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.” ใน ธรรมศาสตร์ ๕๐ ปี. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีแห่งการสถาปนา ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๗. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527.
  4. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาโท หลวงบรรเจิดเรขกรรม ร.น. (ชม ภิรมย์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 24 เมษายน 2515. นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : กรุงสยามการพิมพ์, 2515.