ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ระลึกถึงคุณไสว สุทธิพิทักษ์

22
กันยายน
2565

ข้าพเจ้ามีความเสียใจและอาลัยอย่างสุดซึ้งในการจากไปของคุณไสว สุทธิพิทักษ์ นอกจากเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของครอบครัวสุทธิพิทักษ์และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์แล้ว ยังเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซึ่งท่านเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิด้วยผู้หนึ่ง

เป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษที่ข้าพเจ้ารู้จักคุณไสว เมื่อครั้งเป็นบัณฑิตมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย ขณะนั้นคุณไสวเป็นมหาบัณฑิตและรับราชการอยู่ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รับใช้ชาติกอบกู้เอกราชอธิปไตยของชาติ ด้วยการเป็นพลพรรคขบวนการเสรีไทย ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สายงานของ ศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว คุณไสวได้สมัครเป็นผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านเกิด ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี (พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น.)

ครั้นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส จำต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ต่อมาในปี 2492 ได้กลับมานำขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ แต่ทำการไม่สำเร็จ ต้องพ่ายแพ้ฝ่ายเผด็จการ เพื่อนฝูงและศิษย์ที่ร่วมขบวนการโดนจับกุม บางคนก็ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ บางคนก็หลบหนีไปได้ ในจำนวนนี้มีคุณไสวผู้หนึ่งที่ลี้ภัยไปสิงคโปร์ 

ส่วนนายปรีดีนั้นได้หลบอยู่ในกรุงเทพฯ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงได้เดินทางออกไปสิงคโปร์ ณ ที่นั้นได้พบคุณไสวซึ่งได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จากการที่คุณไสวได้ศึกษาประวัติและผลงานของนายปรีดีมาโดยตลอดกอปรกับการร่วมงานมาด้วยกันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คุณไสวเริ่มลงมือเขียนหนังสือเรื่อง ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ ที่สิงคโปร์ คุณไสวได้ใช้หลักวิชารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ความสำเร็จและความล้มเหลวของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างรอบด้านเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลัง

คุณไสวเป็นผู้ที่เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดแล้ว ก็ทำด้วยความสำเร็จเรียบร้อย กว่า 26 ปี คุณไสวได้ทุ่มเทเพื่อการศึกษาของชาติ เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จนในที่สุดได้รับอนุญาตเลื่อนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง คุณไสวเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา จนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย PACIFIC STATES UNIVERSITY, U.S.A. และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

นอกจากนี้ คุณไสวยังเป็นผู้ให้ความสนใจและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย จนได้รับพระราชทานรางวัลพระเกี้ยวทองคำจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

คุณไสวเป็นผู้ที่มีธรรมะอยู่ในใจ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือพรรคพวกเพื่อนฝูง หางานให้ทำตามความรู้ความสามารถของแต่ละคนและมีความกตัญญูต่อบุพการีและครูบาอาจารย์อย่างสูง โดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอาจารย์และผู้ประกอบพิธีสมรสให้ ในช่วงที่นายปรีดีลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ คุณไสวมีความผูกพันและอาทรเสมอมา 

ครั้นนายปรีดีย้ายจากประเทศจีนมาพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส คุณไสวและครอบครัวได้มาเยี่ยมถึงบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เมื่อนายปรีดีวายชนม์ คุณไสวพร้อมทั้งมิตรสหายที่เคยเป็นศิษย์นายปรีดี ได้ก่อตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ คุณไสวได้รับเลือกเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์จนกระทั่งถึงแก่กรรม 

คุณไสวได้ทำงานให้มูลนิธิปรีดีฯ โดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และด้วยความเสียสละ เริ่มตั้งแต่การสร้างอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านเกิดนายปรีดี ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และก่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ซอยทองหล่อ กรุงเทพมหานคร

ในบั้นปลายชีวิต ขณะที่คุณไสวป่วยรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เมื่อใดที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยม ก็มีความเป็นห่วง ถามถึงวันเปิดของสถาบันปรีดีฯ หรือบางครั้งก็ให้ผู้ช่วยพยาบาลโทรศัพท์มาถาม 

ก่อนถึงแก่กรรม 4 วัน ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยม เห็นอาการแล้วรู้สึกหนักใจมาก แต่ถึงกระนั้นคุณไสวก็ยังปรารภถึงมูลนิธิปรีดีฯ ด้วยความห่วงใย หลังจากนั้น 2 วัน ได้สั่งให้อาจารย์เฉิดโฉม บุตรสาว ส่งเช็คมาบริจาคให้มูลนิธิปรีดีฯ จำนวนหนึ่ง เมื่อคุณไสวถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพเจ้าด้วยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ขนานนามห้องสมุดในสถาบันปรีดีฯ ที่ซอยทองหล่อ กรุงเทพมหานคร ว่า “ห้องสมุดไสว สุทธิพิทักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของคุณไสวที่ได้รับใช้ประเทศชาติ อีกทั้งได้ทุ่มเทใจกายและทรัพย์ให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

ขอให้ผลานิสงส์ที่ คุณไสว สุทธิพิทักษ์ ได้บำเพ็ญเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และราษฎรไทย ตลอดจนการเผยแพร่วิทยาทานและความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ จงเป็นผลส่งให้คุณไสวประสบสุขในสัมปรายภพ และอยู่ในความทรงจำของญาติมิตรและสานุศิษย์ตลอดกาลนาน

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 

ที่มา : พูนศุข พนมยงค์, “ระลึกคุณไสว สุทธิพิทักษ์,” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ต.ม., จ.ช., (กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2538), 31-32.