ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เพียงโกโก้ถ้วยเดียวของพระยาพหล

11
กรกฎาคม
2564

อาจก่อความแปลกใจให้แก่คุณผู้อ่านไม่น้อยทีเดียวว่า “พระยาพหลพลพยุหเสนา” (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำคณะราษฎรสายทหารที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 

มีอันไปเกี่ยวข้องอะไรหรืออย่างไรกันเครื่องดื่มโกโก้? 

ครับ

ผมเองใคร่ถือโอกาสคลี่คลายข้อสงสัยนั้นในอีกไม่ช้า

ย้อนกาลเวลาไปยังคืนวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก่อนหน้าที่จะทำการ “อภิวัฒน์สยาม” ตอนย่ำรุ่งของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน แม้หัวหน้าคณะราษฎรเยี่ยงนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาจะตระหนักดีว่ากำลังจะเอาชีวิตเข้าเสี่ยง มิรู้จะรอดชีวิตกลับมาอีกหรือเปล่า ซึ่งลึกๆตนเชื่อไปในทางที่ว่าคงต้องตายเสียแน่ๆ กระนั้น ก็หาได้รู้สึกจิตใจกระสับกระส่ายไม่ หากปล่อยวางเยือกเย็นสงบเสงี่ยมเป็นปกติ 

หัวค่ำ ณ บ้านพักที่บางซื่อ นายพันเอกล่ำลาภรรยาคือ 'คุณหญิงบุญหลง' (เพิ่งจะมาเป็นท่านผู้หญิงบุญหลงตอนพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2476)  และรีบเข้านอน

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476
พระยาพหลพลพยุหเสนา
ภาพจากหนังสือ สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476

 

'กุหลาบ สายประดิษฐ์' นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา "ศรีบูรพา" ผู้เคยเข้าสัมภาษณ์พระยาพหลฯ และนำข้อมูลคำบอกเล่ามาบันทึกเรียบเรียงไว้เป็นชิ้นงานชุด เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ทยอยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 ได้เปิดเผยถึง “เสียงเล่า” ที่เขาสดับตรับฟังมา คือ ห้วงเวลาขณะนั้นของนายพันเอก

“....ก่อนเข้านอนได้พูดจาสั่งเสียภรรยาของท่านเป็นครั้งสุดท้าย  การที่ได้กล่าวคำสั่งอำลาสั่งเสียแต่เวลาก่อนเข้านอนนั้น ก็เท่ากับว่าท่านหัวหน้าคณะราษฏรได้ตั้งใจไว้ว่าในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นจะไม่พูดจาร่ำลาอะไรกันอีก”

พระยาพหลฯ ยังสั่งความกับคุณหญิงบุญหลงอีกว่า 'นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ' (วัน ชูถิ่น) จะเอารถยนต์มารับที่บ้านเวลาประมาณ “สามยามครึ่ง” หรือราวๆ ตีสี่ครึ่ง จึงให้ปลุกตั้งแต่ตีสาม เพื่อจะได้รับประทานอาหารสักนิดหน่อยและแต่งกายให้เสร็จ  ซึ่งอาหารที่นายพันเอกบอกให้ศรีภรรยาตระเตรียมก็คือ “ขอให้ทำโกโก้แต่เพียงถ้วยเดียว”

คืนนั้น หัวหน้าคณะราษฎรระงับความกังวลทั้งปวง ล้มตัวนอนหลับสนิท ส่วนคุณหญิงบุญหลง ในฐานะภรรยา ครั้นตระเตรียมการต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ก็มัวกังวลเฝ้าระวัง คงแทบมิได้นอนตลอดคืน

เหตุไฉน คุณหญิงบุญหลงจึงกังวล?

นั่นเพราะเธอทราบดีว่า เช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน สามีของเธอจะไปปฏิบัติการอย่างไร

 


ท่านผู้หญิงบุญหลง พลพยุหเสนา ช่วงทศวรรษ 2490

 

ผู้สนใจศึกษาเรื่องราวของคณะราษฎร คงพอคุ้นเคยกรณีที่ 'นายปรีดี พนมยงค์' หรือ 'หลวงประดิษฐ์มนูธรรม' ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน มิได้บอกกับภรรยาคือ 'พูนศุข' เลยว่าตนจะร่วมทำการ “อภิวัฒน์สยาม” ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ก่อนหน้านั้น เขามาขออนุญาตไปบวช และวันพฤหัสบดีที่ 23 จะเดินทางไปหาบิดามารดาที่พระนครศรีอยุธยาเพื่อขอลาบวช กว่านายปรีดีจะเขียนจดหมายส่งจากพระที่นั่งอนันตสมาคมมาแจกแจงความจริงทั้งหมดต่อภรรยา คณะราษฎรก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเสร็จสิ้นไปหลายวัน ดังจดหมายลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 แถลงเหตุผลของการปกปิดความลับผ่านเนื้อความ

“พูนศุข น้องรัก

ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น เวลา ๑๐ นาฬิกาเท่าที่ได้ทราบมา การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เปนห่วงและคิดไว้ว้า ถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ โดยมีประกันชีวิตร์และเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน เรื่องโรงพิมพ์ต้องขอให้ช่วยดู ที่สั่งเขาไปนั้นไม่หมายความว่าจะเอาตราไปทำอะไร ให้เอาตราไปรับเงิน C.O.D. เพื่อส่ง C.O.D. เท่านั้น แล้วให้นำเงินมามอบเธอ นับประสาอะไรเงินและ C.O.D. เงินตั้งหมื่นห้าพันฉันยังโอนให้ได้

นอกจากนั้นเงินเดือนก็ให้เขาเอามาให้ทั้งหมด ไม่ได้ชักหรือหักไว้ ค่าส่ง C.O.D. วิจิตร์ว่าจะต้องใช้เงินราว ๓๐๐ บาท ฉันไม่ให้มากวนเธอ ให้วิจิตร์เขาเอาจากหลวงประกอบ ไม่พอให้เขาเอาเงินเขาทดรอง หักเหลือเท่าใดให้ส่งเธอเท่านั้น ขอเธออย่าเข้าใจผิด ให้เข้าใจเสียใหม่ต่อไปการโรงพิมพ์ทั้งหมดเธอจะต้องดูและบัญชาการทั้งนั้น ที่ไม่บอกมาแต่ต้นเพราะฉันไม่มีเวลาจริงๆ งานเหลือมือทำแทบไม่ไหว เผอิญขณะนี้ว่างลงหน่อยก็มีเวลาพอเขียนหนังสือมา คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่าเวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า

ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่าถ้าฉันบวชสัก ๔ เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทหารที่นี่ว่า เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตร์ของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์ศุขเสมอ คิดถึงหนูและปานอยู่เปนนิตย์เหมือนกันไม่ใช่นิ่งเฉยเสีย

เรื่องโรงพิมพ์เธอต้องรับควบคุมต่อไป
คิดถึงเสมอ
"ปรีดี"

สมาชิกคณะราษฎรหลายคนก็คงเช่นเดียวกับปรีดี ที่ไม่ยอมให้ภรรยาหรือคนในครอบครัวของตนระแคะระคายภารกิจนี้ เพราะเป็นดั่งทำนอง “...ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด....”

'พระยาทรงสุรเดช' (เทพ พันธุมเสน) ผู้วางแผนทั้งหมดในการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง กำชับสมาชิกคณะราษฎรทุกคนเป็นแม่นมั่น อย่าให้เรื่องนี้หลุดไปเด็ดขาด มิเว้นกระทั่งกับคนใกล้ชิดที่สุด

จะเป็นเพราะความที่พระยาพหลฯรู้สึกค้างคาใจหรือยังไม่หมดห่วงถ้าตนต้องสิ้นชีวิตลงไปกระมัง คุณหญิงบุญหลงจึงรับรู้ว่าสามีของเธอคิดทำการใหญ่หลวงอันสุ่มเสี่ยงต่อความตายยิ่งยวด

ในบันทึกของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนถึงตอนที่เขาเรียนถามพระยาพหลฯ ว่า ในคืนที่จะออกไปทำการ “อภิวัฒน์สยาม” ได้สั่งความข้อใดแก่ภรรยาบ้าง ซึ่งนายพันเอกหัวหน้าคณะราษฎรหัวเราะ และเล่าย้อนถึงตอนเริ่มคิดจะปฏิวัติใหม่ๆ

“ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เล่าอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า  ในเวลาที่ตกลงปลงใจว่าจะทำการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินนั้น  ภรรยาของท่านกำลังเริ่มตั้งครรภ์บุตรคนแรก  ท่านว่าความคิดที่จะดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายแผ่นดินครั้งนี้  เป็นเรื่องระหว่างความเป็นกับความตายก้ำกึ่งกัน  และว่าตามจริงในส่วนตัวเจ้าคุณพหลฯ เองมองเห็นข้างตายมากกว่าข้างเป็น  เมื่อทำความใคร่ครวญดูแล้ว ท่านจึงรู้สึกว่า แม้นมิได้บอกความคิดเรื่องนี้ให้ภรรยาได้ทราบและได้พูดจาสั่งเสียการภายหน้าแก่ภรรยาไว้บ้างแล้วก็จะไม่วายห่วง จริงอยู่ พระยาทรงฯ ได้เคยพูดกำชับท่านไว้ว่า อย่าได้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ผู้ใดล่วงรู้เป็นอันขาด เว้นเสียแต่ผู้ที่เป็นร่วมเป็นร่วมตายด้วยกันเท่านั้น  ถึงกระนั้นก็ดี เจ้าคุณพหลฯ เองมองเห็นว่า ท่านควรจะถือภรรยาเป็นเพื่อนร่วมตายได้คนหนึ่ง”

เย็นวันหนึ่ง พระยาพหลฯ จึงเรียกคุณหญิงบุญหลงมาพูดคุยเจรจากันเพียงสองคน บอกความคิดของตนพร้อมชี้แจงเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา

“....การที่คิดจะเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ก็มิได้แน่ใจว่าจะทำไปสำเร็จดอก  มองเห็นข้างศีรษะจะหลุดจากบ่านั้นมากกว่า  แต่ที่เห็นแน่ตระหนักในใจก็คือ ถ้าไม่เร่งรัดจัดเปลี่ยนระบอบการปกครองเสียแต่ในเวลานี้แล้ว  ต่อไปภายหน้า บ้านเมืองก็คงจะประสบความหายนะถึงล่มจมลงไปเป็นแน่  เพราะฉะนั้น จึงรู้สึกเป็นความจำเป็นที่จะต้องนำชีวิตเข้าเสี่ยงภัย ที่ว่าความรู้สึกเป็นความจำเป็นนั้นอาศัยเหตุว่า  บิดาของท่านเคยเป็นนายทหารใหญ่ผู้ใหญ่ข้อหนึ่ง และตัวท่านเองก็เป็นนายทหารผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับความอุดหนุนของบ้านเมืองให้ออกไปศึกษาวิชาการต่างประเทศ  ก็จำต้องคิดถึงบุญคุณของบ้านเมืองอีกข้อหนึ่ง  เมื่อเห็นภัยจะมีมาสู่ประเทศของตนจะนิ่งนอนใจอยู่มิได้  จำต้องรู้สึกถึงความรับผิดชอบพลีชีวิตออกเสี่ยงภัย เพื่อกู้บ้านเมืองไว้ตามสติปัญญาที่จะทำได้ ดังนั้นจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จำต้องทำ”

น้ำใจของพระยาพหลฯ ช่างห้าวหาญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหัวใจที่เด็ดเดี่ยวจนน่ายกย่องคือหัวใจของคุณหญิงบุญหลงผู้ภรรยา พอเธอรับฟังความประสงค์ของสามี จริงอยู่ ในหัวอกผู้หญิงที่เพิ่งตั้งครรภ์บุตรคนแรกมิแคล้วนึกประหวั่นพรั่นพรึงต่อชะตากรรมที่จะมาถึง ถ้าเกิดภารกิจของสามีพลั้งพลาดจนกลายเป็น “กบฏ” ย่อมมีอันตรายถึงชีวิต บางทีโทษทัณฑ์ก็อาจแพร่ลามมาถึงเธอ แต่คุณหญิงบุญหลงนั้น นอกจากจะมิได้ขัดขวางแต่อย่างใด ยังเห็นชอบและสนับสนุนยอมอุทิศพลีตนเพื่อประเทศ

ข้อใหญ่ใจความหลักๆ 2 ประการที่พระยาพหลฯ อยากจะสั่งเสียแก่ภรรยาหลังเธอทราบความคิดที่จะ “อภิวัฒน์สยาม” คือ ประการแรก

“ถ้าท่านทำการมิสำเร็จและต้องประสบอันตรายถึงแก่ชีวิตแล้วไซร้  อยู่ภายหลังขอให้คุณหญิงของท่านจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า การที่ตัวท่านคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย  ความมุ่งมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่า ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง แทนที่พวกผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจะผูกขาดการแสดงความคิดความเห็นไว้แต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังความเห็นของผู้น้อยเลย ดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมีแต่จะชักนำบ้านเมืองไปสู่ความหายนะเท่านั้นเอง”

ส่วนประการที่สอง 

“ถ้าท่านหาชีวิตไม่แล้ว ก็ขอให้ตั้งหน้าอบรมเลี้ยงดูบุตรของท่านให้จงดี ให้สมกับที่เขาเกิดมาเป็นบุตรของท่าน และขอให้สงเคราะห์เลี้ยงดูบุคคลซึ่งเป็นที่รักของท่านด้วยความเมตตาอารีดุจเดียวกับท่านเมื่อยังมีชีวิต”

เวลาราวๆ ตีสองของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ขณะพระยาพหลฯ กำลังหลับใหล คุณหญิงบุญหลงซึ่งยังมิอาจข่มตาหลับได้ลง สังเกตเห็นมีรถตำรวจแล่นผ่านทางหน้าบ้าน นึกหวั่นใจว่าทางราชการอาจระแคะระคายแผนการจนส่งตำรวจมาสืบเสาะเบาะแส  จึงไปปลุกสามีและแจ้งเหตุนี้ แต่พระยาพหลฯ อธิบายว่า รถตำรวจออกตรวจการณ์ปกติ อย่าวิตกกังวลไปเลย และเอ่ยว่า “พรุ่งนี้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็มิรู้ ฉะนั้นในค่ำวันนี้ขอนอนให้เต็มตื่นสักหน่อยเถิด นี่ก็เพิ่งตีสอง ยังมีเวลาอีก ๑ ชั่วโมงเต็ม” จากนั้นก็ล้มตัวลงนอนหลับต่อ

สามยามครึ่ง 'พระประศาสน์พิทยายุทธ' เดินทางมาถึงบ้านบางซื่อ และเคาะประตู คุณหญิงบุญหลงซึ่งเฝ้าคอยระวังในบ้านยังมิไว้วางใจ เกรงจะเป็นอุบายของตำรวจ เธอร้องถามและฟังเสียงให้แน่ใจเสียก่อนว่าใช่พระประศาสน์ฯ ตัวจริง พอเสียงนั้นขานตอบชัดเจน จึงลุกไปเปิดประตูต้อนรับ

พระยาพหลฯ ดื่มโกโก้เพียงถ้วยเดียวและแต่งกายเสร็จสรรพ ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจสำคัญครั้งประวัติศาสตร์พร้อมกับพระประศาสน์ฯ ทิ้งให้คุณหญิงบุญหลงรอคอยฟังข่าวอยู่ที่บ้าน

เมื่อการปฏิวัติอุบัติขึ้นในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ท่ามกลางสถานการณ์คับขัน พอ 'พระยาศรีสิทธิสงคราม' (ดิ่น ท่าราบ) ทราบข่าว จึงรีบเดินทางมายังบ้านบางซื่อ ถามหาว่าพระยาพหลฯ เพื่อนสนิทหายไปไหน คุณหญิงบุญหลงก็มิยอมบอกว่าสามีไปทำอะไรอยู่ที่ไหน กว่าพระยาศรีฯ จะทราบว่าเพื่อนของตนเป็นหัวหน้าคณะราษฎรก็เพราะอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ตอนบ่ายวันนั้น

“เพียงโกโก้ถ้วยเดียวของพระยาพหล” อาจดูเพียงเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่จากจุดนี้แหละ สามารถสะท้อนจิตใจอันแน่วแน่มั่นคงของหัวหน้าคณะราษฎรในห้วงเวลาค่ำคืนและย่ำรุ่งก่อนที่จะได้ออกไปปฏิบัติภารกิจ “อภิวัฒน์สยาม”  ไม่เพียงเท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจแข็งแกร่งของสตรีเยี่ยงคุณหญิงบุญหลงเช่นกัน

ถ้าจะกล่าวถึงบทบาทผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านผู้หญิงบุญหลง ภรรยาของพระยาพหลพลพยุหเสนา น่าจะนับเป็นบุคคลสำคัญยิ่ง เพราะถึงแม้จะล่วงรู้ความลับเรื่องแนวคิดและแผนการปฏิวัติที่สุ่มเสี่ยงอันตราย แทนที่เธอจะมัวทอดถอนใจหรือท้อถอยเสียใจ กลับทำตนประหนึ่งผู้ร่วมช่วยเหลือภารกิจให้สำเร็จลุล่วง หาใช่แค่เพียงชงโกโก้หนึ่งถ้วยให้สามีดื่ม !

 

เอกสารอ้างอิง

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพานิช, 2490
  • พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์. บรรณาธิการ วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์. กรุงเทพฯ: ตถาตาพับลิเคชั่น, 2551.
  • ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, พลเอก. ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552
  • สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2556
  • สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2558
  • ส. พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555